ศีล จึงแปลว่า ปกติ

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๕ วันอาทิตย์ทุกวัน ๆ เรามาฟังเทศน์กัน มาฟังพระท่านเทศน์ท่านพูด หรือบางครั้งบางคราวก็เป็นโยมมาเทศน์มาพูด ให้พวกเราได้ฟัง และพวกเราก็ต้องเอาไปใช้กับชีวิตของเรา การฟังเทศน์ ฟังพูด เราไม่ได้ฟังเพื่อความสนุก ฟังเพื่อความจดจำ แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติตามคำพูดของท่านผู้นั้น

ดังนั้น การฟังวันนี้ ก็เช่นเดียวกัน คนเราทุกคน เกิดมาแล้ว ก็ต้องการความดี ความงาม ความดีความงามนั้น มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และการปฏิบัติดี การปฏิบัติงาม เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเข้าถึงตัวเอง หรือเข้าถึงชีวิต มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นคนละเรื่อง คนละเรื่องกัน



ดังนั้น หลักพุทธศาสนาสอนนั้น ถ้าจะพูดสั้นๆ ก็สอนหลักเดียว ถ้าพูดยาวก็ต้องสอนมาก คำสอนท่าน มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ท่านรวบรวมลงมาแล้วก็ให้ทุกคนรู้สึกตัวเอง และแก้ปัญหาตัวเอง ไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเอง หรือไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นภายในชีวิตของตัวเอง หรือไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นภายในตัวเอง.......ท่านสอน

ทุกข์เนี่ยะ มันสำคัญ มันไม่ยกเว้นใครทั้งหมด พระสงฆ์องค์เณร มันก็ไม่เคยกลัว ญาติโยม มันก็ไม่เคยกลัว ทุกข์นี่มันไม่กลัวใคร มันกลัวแต่สำหรับผู้ที่เห็นแจ้งรู้จริงตามความเป็นจริง...มันกลัว แต่มันก็ไม่กลัว แต่มันเข้าไปแสดงไม่ได้ .... เพราะว่าท่านรู้เท่ารู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ เรียกว่า รู้จักเหตุการณ์นั่นเอง

การฟังเทศน์นั้น บางคนฟังเพื่อเอาบุญ บุญนี้แหละมันเป็นฝ้าบังจักษุ แต่มันก็ดีนะ..บุญ แต่บุญมันช่วยเราไม่ได้ แต่ไม่ได้สอนให้ทำลายบุญ

คำว่าบุญนั้น หมายถึง แก้ปัญหาตัวได้ เรียกว่าคนมีบุญ คนใดมีบุญแล้ว ไม่ต้องมีทุกข์ คนใดไปฟังเทศน์เอาบุญนั้น ยังมีทุกข์อยู่ อันนั้นเรียกว่า ฟังเอาบุญโดยที่ว่ายังไม่รู้จักบุญ คนไม่รู้จักบุญนะ เอาบุญไม่ได้

ตัวของผมเอง ตัวของอาตมาเอง ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไม่รู้จักบุญ ก็เอาบุญไม่ได้ ต่อเมื่อรู้จักบุญแล้ว อยู่ที่ไหนก็เอาบุญได้ เหมือนกันกับที่ว่า วันพระ วันศีลนี้ก็เช่นเดียวกัน วันพระวันศีลเนี่ยะ วันพระ ก็ต้องเข้าไปวัด หรือว่าวันศีล เป็นอย่างนั้น บ้านหลวงพ่อเป็นอย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ทำกันอย่างนั้น แต่ไม่รู้จักความหมายคำว่า วันพระนั่นหมายถึงอะไร วันศีลหมายถึงอะไร เป็นวันของใคร คนโดยมากไม่ค่อยรู้กันที่ตรงนี้นี่ ถือศาสนาพุทธ คอยถึงวันพระแล้วจึงจะเข้าวัด คอยถึงวันศีลแล้วจึงจะเข้าวัด แล้วก็ไม่เข้าใจ เข้าไปก็ไปทำบุญ ก็ดี

อันทำบุญ ดีแล้ว อันเข้าวัดวันพระ ก็ดีแล้ว ไปรักษาศีลวันศีล ก็ดีแล้ว แต่เราให้มีความฉลาดอีกสักบทหนึ่ง ทำความฉลาดขึ้นภายในจิตใจ คำว่าวันพระเนี่ยะ ให้เราเป็นพระทุกวัน จึงเป็นวันของพระ พระมันอยู่ที่เรา อยู่กับทุกคนทีเดียว จึงว่า คำพูดที่อาตมาพูดนี้ มันจึงไม่ขึ้นอยู่กับลัทธิ ไม่ขึ้นอยู่กับนิกาย ไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติตระกูล ไม่ขึ้นอยู่กับเด็ก-ผู้ใหญ่ หรือคนแก่ ไม่ขึ้นอยู่กับใครทั้งหมด ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ที่ฉลาดเอามาใช้เท่านั้นเอง

ดังนั้น คนทุกคนจึงปฏิบัติได้ บางคนถือศาสนาพุทธแล้ว จะไปฟังลัทธิอื่น หรือปฏิบัติศาสนาอื่นไม่ได้...ผิด อันนั้นก็ถูกเหมือนกัน มันไปติด เรียกว่าติดสมมุติ

คนไม่รู้จักสมมุติ จึงไปติดสมมุติ ถ้าหากคนรู้จักสมมุติแล้ว เราจะไม่ได้ติดสมมุติ มันเป็นเพียงสมมุติเฉยๆ นี่...เท่านั้นเอง เราต้องพูดให้เข้าใจ


คำว่าวันพระนี่มันสมมุติพูดขึ้นมา ถ้าเราจิตใจเป็นปกติแล้ว ก็เรียกว่าเป็นพระ พระก็แปลว่าผู้สอนคนนั่นเอง อันพระอย่างที่ตัวอาตมากับตัวเพื่อนภิกษุสามเณรนี่ อันนี้ก็เป็นพระโดยสมมุติ คนที่ยังไม่เคยรู้ ก็ต้องเข้ามาวัด ก็ต้องเห็นพระสงฆ์ ก็สบายใจ นี่ไปติดสมมุติ

อันนั้นก็ดีแล้ว และยกมือไหว้ขึ้น ก็ไปติดสมมุติ ไปยกมือไหว้พระพุทธรูป และยกมือไหว้พระอริยบุคคล แล้วยกมือไหว้พระสงฆ์ที่โดยสมมุติ เราก็สบายใจ แต่ยังไม่เคยยกมือไหว้ตัวเอง อันนั้นก็มันก็ยังไม่ทันดี แต่มันก็ดี แต่มันดีมันไม่เข้าถึงตัวเอง

ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คนทุกคนเข้าถึงตัวเอง เข้าถึงชีวิตตัวเอง เข้าถึงการกระทำ(ของ)ตัวเอง เมื่อเราเข้าถึงชีวิตตัวเอง เข้าถึงการกระทำตัวเอง เข้าถึงการปฏิบัติตัวเองแล้ว อันนั้นล่ะคือพระแท้ 

พระนั้นจึงว่าแปลว่าผู้ประเสริฐ คนใดประเสริฐแล้ว ก็ต้องมีศีล คนใดยังไม่ประเสริฐนั้น ศีลยังไม่ปรากฏ เพราะศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบอยู่แล้ว...นี่

ถ้าเรายังกำจัดกิเลสอย่างหยาบไม่ได้ ก็ชื่อว่ายังไม่มีศีล มีศีลโดยสมมุติ...มีอยู่ ในขณะที่เราไปรับศีลจากพระสงฆ์องค์เจ้า ปาณาฯ อทินนาฯ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีล ๒๒๗ หรือศีล ๓๐๐ ศีลภิกษุณี ๓๐๐ กว่า ก็มี แต่อันนั้นมันเป็นเพียงสังคม ยังไม่ใช่เป็นศีลที่กำจัดกิเลสอย่างหยาบ

เราจะมองเห็นได้ พระสงฆ์องค์เจ้ามีศีล ๒๒๗ เราไปพูดให้เพียงเล็กๆ น้อยๆ โกรธขึ้นมา....ก็มี และโยมก็เหมือนกัน กำลังทำบุญอยู่ เราไปพูดลองชิมสักนิดเดียว...ลองดูซิ คนนี้จะจิตใจหนักแน่นขนาดไหน พูดเข้าไป แตะนิดเดียว โกรธขึ้นมาทันที

อันความโกรธนั้น เป็นกิเลสอย่างหยาบ ให้เข้าใจว่ากิเลสอย่างหยาบได้แก่ โทสะ โมหะ โลภะ ตัณหา อุปาทาน กิเลสเหล่านี้แหละ เป็นกิเลสอย่างหยาบ ถ้ากิเลสอย่างนี้ยังไม่ลดน้อยถอยลงนั้น คนนั้นยังไม่มีศีล เพราะยังเป็นปกติไม่ได้ มันจะมีศีลทำไม ศีลก็แปลว่าเป็นผู้ปกติกาย วาจา ใจ กายก็ต้องพูด...เอ้อ...กายก็ต้องทำอย่างนั้น วาจาก็ต้องพูดอย่างนั้น ใจก็ต้องแน่นอนไปอย่างนั้น เป็นอุดมการณ์ เรียกว่า ศีล


ศีล จึงแปลว่า ปกติ เมื่ออะไรเข้ามาแตะต้อง รู้จักทันที ถ้าเรานั่งอยู่เป็นปกติ อย่างจิตใจมันคิดอยากโกรธขึ้นมา มันก็รู้ ถ้าเราพูดกัน คุยกัน บางคนพูดไม่เพราะหูแล้ว มันอยากโกรธ มันก็รู้ คนใดมายกเรา มันอยากสบายใจ มันอยากพอใจ มันก็รู้ เพราะมันเป็นปกติอยู่แล้ว

แปลว่า คนไม่ลืมตัว ไม่หลงตัว ไม่ลืมใจ ไม่หลงใจ คือไม่หลงชีวิต ไม่ลืมชีวิตตัวเอง คนใดยังหลงชีวิต ลืมชีวิต หลงตัวลืมตัว หลงใจลืมใจ ก็ยังไม่เป็นปกติ มันก็ขึ้นๆ ลงๆ มันเป็นอย่างนั้น

เรื่องบุญ เราเข้าใจให้มันดี สมมุติเราปลูกบ้านหลังหนึ่ง เราไปทำบุญครั้งหนึ่ง มันดีใจ ชอบใจ ได้ทำแล้วชอบใจ พอดีเราหนีไป มีคนอื่น หรืออยู่ในขณะนั้นก็ได้ พูดให้เราไม่พอใจ เกิดหงุดหงิดจิตใจ ความดีใจ ความสบายใจ ความชื่นใจ หายไปหมดเลย แสดงว่าบุญอันนั้นหมดแล้ว นี่...ศีลก็ไม่มีแล้ว ความปกติก็ไม่มีแล้ว มีอะไร มันยังกะมีเปรต ผี จึงว่าวันพระไม่มีแล้ว ดังนั้น วันของพระต้องอยู่ที่ไหน ก็ต้องคอยระมัดระวัง ให้เป็นวันของพระทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที อยู่ที่ไหนก็มีพระอยู่ที่ตัวเรา


ดังนั้น จงทำตัวของเราให้เป็นพระ แล้วก็สอนคนอื่นให้เขาทำ แต่เขาจะทำไม่ทำ เป็นเรื่องของเขา ดังนั้น การที่ว่าพระ พระ นี่ให้เราเข้าใจ วันของพระอยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นพระ เป็นพระอยู่ในบ้านก็ได้ เป็นพระอยู่กับลูกกับหลานก็ได้ เป็นพระอยู่กับสำนักงานที่เราไปทำงานก็ได้ เป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็เป็นพระได้ เป็นครูโรงเรียนก็เป็นพระได้ เป็นนักเรียนไปเรียนหนังสือก็เป็นพระได้ เป็นตำรวจทหาร เป็นครูประชาบาล เป็นรัฐมนตรี ก็เป็นพระได้ นี่เอาพระนี่น่ะไปใช้กับการกับงาน

เมื่อคนใดรู้จักพระแล้ว โรค… ความเดือดร้อน โรคนี่หมายถึงความร้อน เราเคยได้ยิน เป็นโรคอะไร จึงไปโรงพยาบาล โรคเจ็บหัว โรคปวดท้อง ครั้นเป็นโรคเจ็บหัว โรคปวดท้อง โรคทางเนื้อหนัง โรคทางกาย นี่ไปหาหมอได้ แต่โรคทางจิตใจ โรคทางวิญญาณนั้น ไปหาหมอก็ยังไม่รักษา บางทีหมอก็เป็นโรคอีกซะด้วยนะ......(หัวเราะเบาๆ).... นี่..ให้เข้าใจว่าหมอก็เป็นโรคได้

โรคทางจิตวิญญาณ โรคทางจิตทางใจ โรคอันนั้นน่ะจำเป็นต้องเป็นคนไม่ลืมตัว เป็นคนไม่หลงตัว เป็นคนไม่ลืมจิต เป็นคนไม่หลงจิต คือเป็นคนไม่หลงชีวิตตนเอง ไม่ลืมชีวิตตนเอง ไม่ปล่อยปละละเลยให้ชีวิตเป็นหมัน นี่เป็นอย่างนั้น

คนใดปล่อยปละละเลยให้ชีวิตเป็นหมัน คล้ายๆ คือสัตว์เดรัจฉาน คนนี่แข้งขาหน้าตาเป็นคน จิตใจอาจเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เพราะการทำ การพูด การคิด ยังไม่มีความละอายนั้น ท่านว่าทำไปเหมือนสัตว์ เขาว่าอยู่อย่างสัตว์ กินอย่างสัตว์ ไปอย่างสัตว์ มาอย่างสัตว์ นอนอย่างสัตว์ สืบพันธุ์อย่างสัตว์

แต่ว่าจิตใจมันเป็น แต่ไม่ใช่ตัวคนเป็นนะ ตัวจิตใจเป็น ท่านจึงว่า สัตว์กับคนมันอยู่ภูมิเดียวกัน จึงว่า โลกอันนี้เรียกว่ามีแต่ความเดือดร้อน มีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความสับสนเท่านั้น

ถ้าหากว่าเรารู้จักแล้ว อย่าไปทุกข์กับโลก อย่าไปยุ่งกับโลก แต่อยู่กับโลก อย่าไปทวนกระแสของโลก แต่ว่าเราทวนกระแสของโลก แต่อย่าไปสวนกระแสของโลก นี่มันกลับกัน

คำว่าทวนกระแสของโลก แต่อย่าไปสวนกระแสของโลก คือเราอย่าไปกั้นมัน กำลังเขาวิ่งมาเนี่ยะ เรายืนอยู่เนี่ยะ เราจะมีกำลังหนักเท่าไหนก็ตาม มีแรงหนัก พอดีคนวิ่งมา มันจะมาชนเรา เราต้องกระเด็นหนีทันที เราต้องหลีกให้เขาไปก่อน เมื่อเขาไป กรายเราไปข้างหลังเราแล้ว เมื่อเขาเหนื่อยแล้วกลับคืนมานี่ เนี่ยะ เขาจะกลับมา บางคนก็ไม่กลับมา ไปเตลิด ๆ ก็มี

ถ้าเราไปสู้เขาเนี่ยะ สู้ไม่ได้ เพราะเขาวิ่งมาเต็มที่แล้ว อันนี้ท่านว่าอย่าไปสวนกระแสของโลก แต่ทวนกระแสของโลก ทวนคือว่าพยายามพูดให้เขาเข้าใจ เมื่อเขาไม่เข้าใจแล้ว เขาก็ไปตามเรื่อง

ดังนั้น ถือพุทธศาสนานี่ ต้องรู้จักกลั่นกรองเอามาใช้ พุทธศาสนานั้นคือ ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญา ตัวความฉลาดนั่นแหละ เป็นพุทธะ พุทธะจึงแปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม อยู่กับธรรมะ จึงว่าเบิกบานแล้วก็อยู่กับธรรมะ คนใดอยู่กับธรรมะแล้วไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ มันเป็นอย่างนั้น คนใดไม่อยู่กับธรรมะนั้น อยู่กับอะไร อยู่กับอธรรม เป็นทุกข์ เป็นความเดือดร้อน


ดังนั้น มีแต่ธรรมะเท่านั้น จะช่วยให้โลกหรือสังคมเย็นลงมาได้ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ช่วยได้เป็นบางอย่าง แต่ว่าจะช่วยให้คนเป็นปกติแน่นอนนั้น เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเป็นธรรมะแล้ว จะไม่มีเงินก็ได้ มีเงินก็ได้ แล้วก็ปฏิบัติได้ทุกคน

คนบางคนว่าไม่มีเงิน ปฏิบัติธรรมะไม่ได้ ไม่มีความรู้ ปฏิบัติธรรมะไม่ได้ เราไม่เป็นชาวพุทธ ปฏิบัติธรรมะไม่ได้ อันนั้นเป็นการเข้าใจน้อยเกินไป ไปติดสมมุติ

ทุกข์มันไม่ยกเว้น มีเงินมันก็ทุกข์ ไม่มีเงินมันก็ทุกข์ เรียนความรู้สูงๆ ก็ทุกข์ ไม่ได้เรียนความรู้สูงๆ ก็ทุกข์ เป็นคนแก่ก็ทุกข์ เป็นคนหนุ่มคนสาวก็ทุกข์...นี่ แต่ว่าเกิดมาเพื่อความทุกข์ไหม ?

เกิดมาเพื่อความไม่มีทุกข์ ถ้าหากเกิดมาเพื่อความไม่มีทุกข์ เราก็ต้องศึกษาตัวเราให้รู้จักจริงๆ เข้าถึงจริงๆ ถ้าเราไม่ศึกษาจริงๆ ไม่เข้าถึงจริงๆ แล้ว มันจะไม่ได้ผล


อันนี้เป็นผลเกิดขึ้นเพราะการกระทำ การกระทำนั้น ไม่ใช่ว่าจะนั่งคิดเอา อันนั่งคิดอันนั้นก็ดี แต่มันเข้าไปในความคิด มันคิดแล้ว บางคนรู้ รู้ทุกคนนะ คนมาที่นี่ รู้ทุกคน ไม่ใช่ไม่รู้ ทำไมครั้นรู้แล้ว ให้มันเป็นทุกข์ทำไม เพราะเรื่องอย่างนั้นมันรู้จำ รู้จักนี้ - รู้จัก รู้จำ รู้แจ้ง รู้จริง


ครั้นถ้ารู้จักสมุฏฐาน-ที่เกิดทุกข์จริงๆ ก็ค่อยยังชั่ว รู้แล้วก็จำได้ ค่อยยังชั่ว รู้แจ้งบัดเนี่ยะ รู้ด้วยการเห็นแจ้ง รู้จริงคือไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน สิ่งนี้มันต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อแต่ก่อนเราไม่รู้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ บัดนี้เรามารู้มันแล้ว มันก็ต้องเป็นอย่างนี้

พระพุทธเจ้าจึงว่า สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต สัตว์ทั้งหลายเหมือนเราตถาคต สัตว์ทั้งหลาย เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอทั้งหลาย ให้ทุกคนนี่แหละที่ยังไม่รู้นั่นแหละได้ฟัง แล้วก็นำไปปฏิบัติ จึงว่า จงประพฤติปฏิบัติตามอย่างเราตถาคตนี้

บัดนี้ เราไม่เข้าใจ เราก็ไปทำบุญ ก็ดีนะ ก็ไปรักษาศีล ไปทำความสงบ อันนั้นดีแล้ว อันนั้นยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เราคงจะเข้าใจกันดี การบวชนี้ก็มีมาก่อนพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังเป็นมหากษัตริย์ พาบริวารไปชมสวนดอกไม้ ก็ไปเห็นรูปสมณเพศ อันนั้นก็แสดงว่ามีมาก่อนแล้ว มันไม่ใช่เป็นคำสอนของพระ-พุทธเจ้า แต่มันก็ดี เพราะพระพุทธเจ้าก็ไปเห็นรูปแบบ เกิดศรัทธา ก็ได้ศรัทธาตามเขาไป อย่างที่เรามาเห็นพระสงฆ์องค์เจ้าก็เช่นเดียวกัน เราก็ศรัทธา เราก็ยกมือไหว้ ก็สบายใจไปชั่วคราว

พอดีบวชไปแล้วบัดนี่ก็ไปศึกษากับอาจารย์กรรมฐาน ความสงบ อันนั้นก็ยังไม่ได้เป็นสงบแบบพระพุทธเจ้า ความสงบนี้แหละเราไม่เข้าใจ จนได้สมาบัติแปด และบางคนว่าเป็นพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องทำตาม อันนั้นทำตามความหลง ทำตามคนไม่รู้ จึงว่า รู้อย่างไม่รู้ รู้อย่างผู้รู้

รู้อย่างไม่รู้ ก็ทำอย่างคนไม่รู้ มันก็ไม่รู้เหมือนกันกับพระพุทธเจ้านั่นเอง ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่รู้นะ มันก็ไม่รู้เหมือนอย่างเจ้าชายสิทธัตถะกุมารไม่รู้นั่นเอง จึงว่า สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต เมื่อไม่รู้ก็ต้องเสาะแสวงหา จนกว่าที่จะพบบุคคลผู้ที่รู้

บัดนี้ เราจะไปหาคนยังไง คนที่รู้มาสอนเรา อันนี้ก็เอาไปคิด เอาไปพิจารณาเอาไว้ การเข้าหาครูบาอาจารย์ให้แนะนำพร่ำสอนเรา ก็จะเลือกเฟ้นได้ยังไง เพราะเราก็ไม่รู้อยู่แล้วนี่ มันเป็นอย่างนั้น คนใดพูดเพราะหู เราก็ชอบ (หัวเราะเบาๆ) คนใดพูดไม่เพราะหู เราก็ไม่ชอบ อันไม่ชอบมันเป็นเรื่องอะไร มันไม่ชอบก็ทุกข์แล้ว อันที่เราชอบนั้นเพราะเรื่องอะไร ก็ทุกข์แล้ว แต่มันทุกข์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ฟังเอา ที่ว่าบทความเรา จะเอาไปใช้กับชีวิตของเราจริงๆ นั้น

ดังนั้น การที่เราเกิดมาเนี่ยะ มันไม่มีทุกข์ มันไม่มีทุกข์ ครั้นถ้าพูดอย่างสั้นๆ ก็เรียกว่า นิพพาน มันมีแล้วในคนทุกคน คำว่านิพพานนี่หมายถึงความไม่มีทุกข์ ความเย็น

อย่างที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้นี่ เป็นยังไงคุณพัน (ผู้ฟังตอบ...เป็นปกติค่ะ) เอ้อ...ปกติ คุณตาเป็นยังไง (ผู้ฟังตอบ...ปกติครับ) เอ้อ...แน่ะ...อันปกตินี้ ภาษาบ้านเราเดี๋ยวนี้ก็เรียกปกติ ภาษาธรรมะเรียกอุเบกขา อุเบกขาวางเฉยๆ อันนี้มันมีอยู่ในคน แต่เราไม่ได้เคยสนใจ ไม่ศึกษาที่ตรงนี้ และบุญมันช่วยไม่ได้ อะไรช่วยไม่ได้ทั้งนั้น ศีลก็ช่วยไม่ได้

จึงว่า ท่านว่า ให้ศึกษาตัวเอง ทำความรู้สึกตัว ตื่นตัว ทำความรู้สึกใจ ตื่นใจ เรียกว่า การเจริญสติ ภาษาธรรมะเรียกว่าทำให้สติมากๆ เมื่อมีสติมากๆ แล้ว ความที่หลงตัวลืมตัว จะค่อยลดไป ๆ ท่านว่าอย่างนั้น บัดนี้ พูดภาษาบ้านเราว่าทำความรู้สึกตัวมากๆ ตื่นตัวมากๆ ทำความรู้สึกใจมากๆ ตื่นใจมากๆ ความไม่รู้มันก็หายไป ๆ เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น การทำความรู้สึกตัวนี้ จึงมีประโยชน์ มีค่า มีคุณมากที่สุด จะเอาเงินเอาทองไปซื้อไม่ได้ คนอื่นทำแทนไม่ได้ สามีภรรยาทำแทนกันก็ไม่ได้ ลูกหลานทำแทนเราก็ไม่ได้ ลูกหลานเป็นคนดี พ่อแม่อาจจะเป็นคนชั่วคนเลวทรามก็ได้ ถ้าคนรู้จัก เอาไปใช้ได้จริงๆ บัดนี้ พ่อแม่เป็นคนดี ลูกหลานอาจจะเป็นคนชั่วก็ได้ มันจึงไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติตระกูลอะไรทั้งหมด มันขึ้นอยู่กับการกระทำของบุคคลคนนั้นเท่านั้นเอง

การพูดธรรมะให้ทุกคนเอาไปใช้นี้ ทุกคนเอาไปใช้ได้ แต่เมื่อไม่รู้ ต้องถามบุคคลผู้ที่รู้ แต่คนที่รู้นั้นมันมีรู้ ๒ รู้ อย่างที่บอก คนที่รู้เรื่องอะไรต้องสอนเรื่องอันนั้น คนที่รู้เรื่องอะไรต้องสอนเรื่องของตัว 

ศาสนาจึงเเปลว่าคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ พุทธศาสนาแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม แต่เรารู้แล้วบัดเนี่ยะ เราถามเขา เขาจะเป็นยังไง เนี่ยะ...ก็ต้องรู้ รู้แล้วของเขาอีกซะด้วยนะ

ดังนั้น เรามาที่นี่ต้องมีการฝึกหัด (หัวเราะเบาๆ) ต้องมีการฝึกหัด ฝึกยังไง ฝึกฝืนนิสัยเดิมๆ นิสัยเดิมๆ นั้นมันจะทำไปตามใจชอบ เมื่อมันทำตามใจชอบ มันก็ทำเข้าข้างตัว เมื่อเข้าข้างตัวแล้วก็ไม่รู้ตัวเลย มันเข้าข้างกิเลสแล้ว เราต้องฝืนกิเลส กิเลสมันอยากทำอย่างนั้น เราต้องฝืนมันดูนิดหน่อย ไม่ต้องทำ ไม่ต้องทำ เมื่อไม่ต้องทำ เดี๋ยวนั่งไป มันก็คิดอยากทำอีกแล้วนี่ มันฝืนมัน จึงว่า มันอยากพูด ไม่ต้องพูด มันเป็นอย่างนั้น ต้องเตือนมัน

จึงว่า การเห็นตัวเองนี้ มีค่ามีคุณมากที่สุด คนโบราณท่านก็ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน พึ่งคนอื่นไม่ได้ ใครช่วยเราไม่ได้ ช่วยได้แต่อย่างอื่น เรื่องความทุกข์ทางจิตใจ ทางชีวิตนี้ ช่วยไม่ได้

คนอื่นช่วยได้ก็มีแต่เพียงแนะแนวเท่านั้นเอง อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนลูกศิษย์ทั้งหลายว่า อักขาตาโร ตถาคตา อันนี้อาตมาก็เพียงอาจารย์เล่าสู่ฟัง เป็นภาษาบาลี พระตถาคตนั้นเป็นแต่เพียงผู้แนะแนววิธีปฏิบัติเท่านั้นเอง แนะแนวทางให้ไปทำเอาเท่านั้นเอง แต่การประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นหน้าที่ของเธอ ถ้าเธอทำ เธอก็รู้ ถ้าเธอไม่ทำ เธอจะไม่รู้ ท่านว่าอย่างนั้น

การทำความรู้สึกตัวนี้จะมีผลของมัน หนึ่ง ความทุกข์จะไม่เกิด สอง มันจะหยุดได้ สาม เห็นคนทำผิดแล้ว ก็คิดน่าสงสาร พูดภาษาบ้านเราตามธรรมะก็เรียกว่ามีเมตตา ท่านว่าอย่างนั้น คำว่าเมตตากับน่าสงสารเนี่ยะจะเอาไม่ได้

เอ้า...บัดนี้จะพูดเรื่องที่จะเอาได้ เห็นคนตกน้ำ...บัดนี่ คนกำลังจมน้ำอยู่ เราจะทำยังไง คนนั้นจะตายแล้ว เราก็ต้องจำเป็นต้อง…ผ้าก็ต้องเปียกนะ เห็นมั้ย...เอ้อ...เรากระโจนน้ำลงไป กระโจนน้ำลงไป จำเป็นเราก็ต้องเปียก ถ้าเราไม่รู้จักวิธีเอาคนนั้น คนนั้นจะกอดคอเรา เมื่อเราเกาะตีนเราก็หวิดน้ำ เราก็หวิดน้ำไม่ได้ คนนั้นก็ดึงเราไป เพราะคนนั้นมันจมจะตายแล้ว แล้วก็ผลที่สุด (ถ้า) ไม่รู้จักวิธีก็ตายด้วยกัน

แต่คนนั้นมีวิธีอย่างดี คือเราจับคนนั้น อย่าให้คนนั้นมาจับเรา เราต้องจับคนนั้น จับคนนั้นดึงเข้ามา ดึงเข้ามา แล้วก็มือนึงก็ว่ายน้ำเข้ามา ว่ายน้ำเข้ามา เราก็เปียก…ผ้าเปียก..ก็หนักพอแฮงแล้ว ก็ดึงคนนั้นอีกด้วย ดึงเข้ามา พอดีเราได้ที่แล้วก็ดึงแรงๆ เข้ามา เท่านั้นเอง

ดังนั้น คนจะช่วยคนอื่น จำเป็นต้องถูกเขาตำหนิบ้าง ถูกเขาด่าเราบ้าง ถูกเขาชมเราบ้าง แต่เมื่อเราเอามาไม่ไหว มันตายแล้ว คนนั้นก็ไม่ต้องดึงขึ้นมาก็ได้ เพราะมันตายแล้วนี่ ดึงคนตายดึงขึ้นมาไม่ได้

การสอนคนก็เช่นเดียวกัน ท่านเปรียบอุปมาอย่างนั้น ดังนั้น ขอให้พวกเราที่มาที่นี่ ฟังแล้ว อย่าเป็นคนที่ตายแล้ว ให้เป็นคนมีลมหายใจ คนที่ตายแล้วนี่มีชีวิตอยู่ก็เหมือนกับคนตายแล้ว ท่านว่าอย่างนั้น คนไม่มีความละอายนี่แหละ จึงว่าคนตายแล้ว ไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก ไม่รู้จักว่าเรากำลังทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร...ไม่รู้ คนเช่นนั้นจะเป็นคนได้ไหม? เป็นคนได้ หน้าตาแข้งขามือเท้าเป็นคน แต่ว่าไม่รู้ตัวเองนี่แหละ มันเป็นสัตว์

ในขณะที่ไม่รู้ตัวเองนั่นเป็นสัตว์ แต่ไม่ใช่(ตัว)คนเป็นนะ ใจมันเป็นสัตว์ ใจมันไม่มีความละอาย หิริ - ความละอายแก่ใจ ไม่ใช่ละอายแก่คนนะ ละอายแก่ใจพู่นนะ โอตตัปปะ-ความเกรงกลัวต่อการกระทำ คือไม่เกรงกลัวต่อการกระทำนั่นนะ ท่านว่าอย่างนั้น

จึงว่า ให้เข้าใจ คำสอนเพียงน้อยๆ แต่มันมาก คำสอนน้อยๆ แต่ว่าทุกคนต้องทำดี การทำดีนั้น ดีแล้ว แต่ว่าไม่รู้จักดีนั้น จะเอาไปใช้อะไร เพื่ออะไร เราไม่รู้จัก ดีนั้นเอาไปใช้โดยวิธีไม่ลืมตัวนั่นเอง ไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้น ไม่ให้...ไม่ให้ผิดปกตินั่นเอง

ถ้าผิดปกติในขณะไหน เวลาใด แปลว่าเราไม่มีดีในตัวเราแล้ว ดีมีอยู่ แต่เราไม่มี เท่านั้นเอง คำว่าดีนั้นมีในคนทุกคน ไม่ยกเว้น เป็นคนไทยก็มีดีอยู่แล้ว เป็นคนจีนก็มีดีอยู่แล้ว เป็นพระสงฆ์องค์เจ้าก็มีดีอยู่แล้ว เป็นฆราวาสญาติโยมก็มีดีอยู่แล้ว ถ้าไม่มีดีจะทำได้ไหม ทำไม่ได้ มันต้องมีดีแล้วมันจึงทำได้...คน คนไม่มีดี ทำดีนั้นยาก ท่านว่า

ดังนั้น อย่าไปหลงตัว คนหลงตัว...คนเมานะ เมาแล้วก็ลืมตัว แน่ะ...ลืมตัวเลยคนเมา เมาอะไรทั้งหมด 

ตามภาษาบ้านหลวงพ่อ หลงตัวลืมตัว พูดตอนฉันกลางวันก็พูดเรื่องนี้นิดเดียว คนเมา..หมดราคา หมดราคายังไง คือไปเมาตั้งแต่... เมา..จับตรงนั้น เมาตรงนี้ ก่อนที่จะลงบันได หรือเข้าไปในห้อง หวีผม เตรียมตัว ที่ไหนไม่ดีก็..เลยลืมตัวไป มีแต่เครื่องประดับประดาลืมตัวไป ออกไปข้างนอก งามแต่ใบหน้า แต่ใจมันเลวทราม เหม็นอื้ออยู่ข้างใน จึงว่าลืมตัว

เมาสุรา หมดสำคัญ ความสำคัญไม่มี สำคัญแต่กูเมา กูดี กูเก่ง ความสำคัญไม่มี ความสำคัญนี้สำคัญนะ สำคัญพูดผิด ไม่มีความละอาย ไม่มีความสำคัญ เป็นสัตว์เดรัจฉาน ใครจะกลัวมัน กลัวมั้ย สัตว์เดรัจฉาน เขาไม่กลัวมัน เขาฆ่าได้ เสืออยู่ในป่า ร้ายที่สุด กินคนก็ได้ แต่คนฆ่าเสือได้ เสือก็ฆ่าคนได้ เป็นบางอย่าง แต่ช้าง...ใหญ่ คนฆ่ามันได้ คนไม่ฆ่า คนก็ขี่คอมันได้ นี่แหละจึงว่า อย่าพึ่งว่าให้มันหมดสำคัญ

ถ้ามันหมดสำคัญแล้ว พูดว่า คนที่เขาฉลาด เขาจะมองนี้ พูดอย่างนั้น ใครจะกลัว เขาไม่กลัวเลย กลัวแต่คนที่ไม่มีปัญญาเท่านั้น กลัวคน

หมาไน บ้านหลวงพ่อเรียกว่าหมาไน...อันนี้ ยามเมื่อมันอ้วนมันพี หมาไนไล่ไม่ทัน พอดีมันผอมเข้าไป หมาไนมันจ้องกินทั้งนั้น กินเนื้อมันหมดเลย ผลที่สุด เนื้อก็ไม่มีเลย นี่...มันสำคัญ

เมาการพนันหมดตัวนี่ ไฟไหม้ยังมีที่อยู่ เป็นอย่างนั้น พอดีเล่นการพนันเข้าไป ที่ดินก็ขาย ทรัพย์สมบัติอะไรทุกอย่าง ขายทั้งหมดเลย เพราะการพนัน หมดตัวเลย หมดจริงๆ นะ ไม่ใช่หมดตัวนี่นะ เพราะเรื่องอะไร เรื่องลืมตัวเท่านั้น

การลืมตัวเนี่ยะ เป็นพิษร้ายอย่างหนักที่สุด การลืมใจเป็นพิษร้ายอย่างหนักที่สุด การลืมชีวิตตัวเองเนี่ยะเป็นโทษอย่างหนัก อย่างหนัก

ดังนั้น คน - จึงว่า รู้จักสภาพหรือภาวะของจิตใจของตัวเองนี่แหละ ดีมากที่สุด 

โยมก็เป็นพระได้ พระก็เป็นพระได้ คนถือศาสนาไหนก็เป็นศาสนาพุทธทั้งนั้น มีแต่พุทธศาสนาเท่านั้นสอนเรื่องนี้ แต่เขาว่าเขาเป็นลัทธิคริสต์ เป็นลัทธิอิสลาม เป็นลัทธิใดก็เพียงสมมุติพูด แต่จิตใจของเขาเป็นพุทธเเล้ว

ดังนั้น จึงว่า พุทธะจึงไม่เลือกไม่เฟ้น ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ ใครฟังแล้วเอาไปใช้ได้ เพื่อเป็นปัญหาไม่ให้ตัวเองเข้าไปทุกข์กับสังคมมาก ไม่ให้ตัวเองอยู่ด้วยทุกข์มากเท่านั้นเอง พุทธศาสนาจึงว่าสอนเหนือทุกอย่าง

นิพพานจึงมีแล้วในคนทุกคน แต่คนแสวงหานิพพาน ก็เลยขุดน้ำไม่ถูกสาย ไม่ได้กินน้ำ ขุด...ไปขุดจอมภูเขา บ้านหลวงพ่อเรียกว่าภูเขา สูงๆ มันไม่มีน้ำ ขุดลงใกล้แม่น้ำ มันจึงมีน้ำ ถูก...ถูกสายน้ำ ได้กินน้ำ

ดังนั้น คนหานิพพาน ตั้งแต่ตัวเล็กแล้วมาจนตาย ไม่เคยพบนิพพาน ไม่ว่าคนอื่นเนี่ยะ (ท่านพูดกลั้วหัวเราะ ) ตัวหลวงพ่อเองก็หานิพพานเช่นเดียวกันนะ หามาตั้งแต่ตัวเล็กๆ จนกระทั่งอายุ ๔๖ ปี จึงรู้ รู้ว่า...โอ้...นิพพานไม่ได้หมายอย่างที่เราพูดนั้น อันนิพพานตายแล้วจึงเอานั้น เราเข้าใจผิด อันนั้นเราเข้าใจผิด อย่างที่พระอรหันต์ก็เช่นเดียวกัน เราเข้าใจผิด แต่มันก็ไม่ผิด เพราะเราไม่รู้ เราจึงคิดอย่างนั้น

อย่างตาทิพย์ ก็เข้าใจผิด แต่ไม่ผิด เราไม่รู้ เราไปคาดคิดเอาอย่างนั้น อันนั้น ท่านเรียกว่าปุถุชน คำว่าปุถุชนแปลว่าผู้หนา ผู้มีความรู้อย่างไม่รู้ ท่านว่าปุถุชน

ผู้มีปัญญาชน..บัดนี่ เขาเรียกว่าแสวงหาธรรมะ เรียกว่าเป็นอริยบุคคล ท่านสอนอย่างนั้น คือว่า คนนี่แหละจึงว่ามีดีทุกคน แต่ว่ายังไม่เอาดีที่ในตัวเราเอามาใช้ จึงไปพึ่งผี พึ่งเทวดา พึ่งฤกษ์งามยามดี พึ่งอะไรๆ จิปาถะ ไม่ได้พึ่งการกระทำตัวเอง

คนใดวางสิ่งที่ไม่เป็นสาระแล้วกลับมาพึ่งตัวเอง ทำดี พูดดี คิดดี ดีมีเกิดขึ้น ถ้าอยากได้ดี แต่ทำชั่ว ดีหายไปเลย 

ที่อาตมาเคยพูดว่า จิตใจของคนนี้ กลอกกลับได้ไว ดุจมีลานไขในตน เราท่านควรบังคับกล ให้จิตหมุนมาแต่ในทางข้างดี ถ้าปล่อยให้จิตหมุนไปในทางข้างกีย์ ข้างกีย์ก็คือกิเลสนั่นเอง ธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ

ความที่รู้สึกตัวหนีไปเลย เพราะกิเลสมันเข้ามาแล้ว ก็หายสูญไป อธรรมเข้าครอบงำ อธรรมก็ความไม่ดีนั่นเอง...เข้าครอบงำ ความระยำสัมบูรณ์ ความระยำก็ความไม่ดีนั่นเอง กระโดดโลดเต้น ความระยำสัมบูรณ์ก็ปลิ้นปอกหลอกเรา มันก็หลอกเรา

เมื่อหลอกเราแล้ว เราก็ลืม ลืมตัวเรา ก็หลอกเราไป หลอกเราไป เหมือนกับบ้านหลวงพ่อนั่น...พูดซะทางนี้เอิ้นสุนัข บ้านหลวงพ่อเรียกว่าหมา หมามันขี้เกียจนะ เจ้าของอยากเอามันไปหาเนื้อ เอาไปเลี้ยงมันแล้ว ต้องเอาข้าวคอยไป เอ้า กินข้าว มันไม่อยากไป แต่ไม่ให้กินข้าวก่อนทีแรก ไม่ให้มันกิน มันอยากกิน ไม่ให้มันกิน เอาให้มันกิน เอาไป ๆ ๆ จนเข้าไปป่า ให้มันกินทีละนิด มันก็ตามไป ผลที่สุด หลายครั้ง หลายหน ก็ตามไป

อันนี้แสดงว่า อย่าไปทวนกระแสของลมมากเกินไป และอย่าไปทวนกระแสของโลกมากเกินไป แต่ให้รู้จักวิธีที่ล่อมันมาเท่านั้นเอง




ดังนั้น พระพุทธเจ้าก็สอนตรงๆ แล้ว แต่ถ้าหากคนใดเข้าใจว่าพระพุทธเจ้ามีตาทิพย์ มีหูทิพย์ อันนั้นคนคิดยังไม่ทันเกิดปัญญา ยังไม่มีญาณปัญญา แต่มันมีแนวความคิดอยู่แล้ว

ถ้าหากว่าคนมีปัญญาสักนิ๊ด..( ท่านลากเสียง)..เดียวเท่านั้นเอง กลับเข้ามาดูตัวเรา... “กับแก้” บ้านหลวงพ่อเรียกว่ากับแก้ กั๊บ..แก่...มันร้องอยู่ตามบ้าน ทางนี้เรียกว่าอะไร (ผู้ฟังตอบ-ตุ๊กแก) ตุ๊กแก เรียกว่าตุ๊กแก - กับแก้ก็สอนคนเป็น ถ้าเรารู้จักเอามาใช้ได้ แต่เราไม่แก้มันก็เลยใช้ไม่ได้ กั๊บ...แก้....คนมีธรรมะ โอ๊...ผิดแล้วต้องกลับ ต้องแก้

อุปกาชีวกแสวงหาพระพุทธเจ้า ทำไมพระพุทธเจ้าไม่มองถึงจิตใจอุปกาชีวก ถ้าพระพุทธเจ้ามีตาทิพย์จริงๆ นะ พูดอย่างนี้อุปกาชีวกไม่ชอบ แล้วจะพลิกให้มันชอบ พระพุทธเจ้าจึงไม่เป็นอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าพูดความจริง แต่เห็นแต่ตัวท่านเองว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ อุปกาชีวกถาม ท่านอยู่สำนักไหน เป็นลูกศิษย์ของใคร ครูบาอาจารย์ของท่านสอนเรื่องอะไร น่าเลื่อมใส พระพุทธเจ้าไม่มองเห็นจิตใจของอุปกาชีวก “ เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์นั้น สอนให้เราอย่างนั้น ว่าอย่างนั้น” ทำไมพระพุทธเจ้าไม่พูดอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยบอกว่า “ เราไม่ได้อยู่สำนักไหน ไม่เป็นลูกศิษย์ของใคร เราไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เราตรัสรู้เองโดยชอบ” อุปกาชีวกแลบลิ้นให้ หนีไปเลย

แสดงว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนธรรมดาแล้วนี่ เเต่มองเห็นจิตใจของท่านไม่เป็นทุกข์กับอุปกาชีวกเท่านั้นเอง ครั้งนี้ครั้งหนึ่งนะ ที่หลวงพ่อพูดนี่ว่า หูทิพย์ ตาทิพย์ของปุถุชน หูทิพย์ ตาทิพย์กับของอริยบุคคล มันต่างกัน มันเป็นอย่างนั้น

แล้วก็คนที่มีอิทธิปาฏิหาริย์... ครั้งพระพุทธเจ้าป่วยหนัก เดินมากับพระอานนท์ นี่...ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่เหาะไปให้มันถึงที่ทีเดียว จะเดินต็อกแต็ก ต็อกแต็ก ไปด้วยเท้าทำไม อันนี้แหละ คนมันเข้าใจไม่ตรง เพราะเราไปฟังเอาแล้วมันก็ เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์คือพระพุทธเจ้าไม่ได้ทุกข์ ท่านเหาะไปทางใจท่าน เท้าท่านเดินเตาะแตะ เตาะแตะมากับพระอานนท์ ให้พระอานนท์ไปตักเอาน้ำขุ่นๆ ถ้าพระพุทธเจ้ามีอิทธิปาฏิหาริย์ ทำให้น้ำใสๆ ขึ้นมาก็ได้ ทำไมพระอานนท์ตักน้ำขุ่นๆ มาให้กิน บางคนหาว่าพระพุทธเจ้ามีเวร เปล่า....เวรทำไม(ยังไง) คนเข้าใจผิด จึงว่าตีปัญหา ความหมายของพระพุทธเจ้าไม่ตรง

แต่ว่ามันไม่ใช่ผิดเพราะความเห็นอันนั้น จึงว่า คนไทยแปลภาษาไทย ให้ไปตรงกับภาษาอินเดีย มันเป็นของยาก แล้วแปลภาษาอินเดียเข้ามาสู่ภาษาไทย มันยากอยู่นะ มันยาก แต่ว่าท่านให้ลงมือปฏิบัติเอง ให้รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง

ถ้าเราไม่ปฏิบัติแล้ว ไม่รู้แล้ว เราจะตีความหมายมันผิด บัดนี้ เราจะไปกลัวแต่สัตว์นรก เมื่อตายไปแล้วพู่น เราไม่กลัวนรกที่มีอยู่ในเรา ไฟนรกที่ไหม้เราทุกวันนี้ ไฟนรกไม่มีแตก ร้อนมากกว่าไฟที่เราหุงต้มกินนั้น เพราะคนเนี่ยะ ถ้าโกรธขึ้นมา ยืนก็ไม่ได้ นั่งก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ ร้อนระอุ เดินไปพู่น มันเป็นอย่างนั้น

เดี๋ยวนี้ส่วนมากก็ดูคนไม่เป็นคนเข้ามาแล้วนี่ เคยได้ยินมั้ย ดูคนไม่เห็นนะเนี่ยะ เป็นอย่างนั้น นั้นแหละไฟนรก เป็นสัตว์ไปแล้วบัดนี่ เห็นคนเป็นสัตว์ไปแล้วบัดนี่ จะถือคนมั้ยคนนั้น ไม่ใช่คน แล้วมันก็เป็นสัตว์แล้ว มันก็เห็นสัตว์เป็นเพื่อนมัน มันจะว่า คนนั้นเป็นสัตว์..ไอ้หมา นางหมา ท้าวหมา บักผี ท้าวผี นางนี่ มันไม่ใช่คนพูดอย่างนั้น มันเป็นผีพูดแล้ว

จึงว่าคนนั้นจึงไม่มีพระประคองใจ คนนั้นถึงจะเป็นพระก็ยังไม่มีพระ นี่...ไม่ใช่พูดให้คนอื่นเอานะ พูดความจริงสู่กันฟัง ทุกคนต้องการความจริงทั้งนั้น มาที่นี่ แต่พูดความไม่จริง มันเป็นยังไง เพราะคนไม่มีหิริความละอายนั่นเอง จึงไม่พูดความจริงให้คนฟัง พูดความจริงไม่ได้แล้ว ไปโกหกกันทำไม ต้องพูดความจริง ความจริงมียังไง ต้องพูดอย่างนั้น ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น จึงว่า หิริความละอายแก่ใจ โอตัปปะความเกรงกลัวต่อบาป ความเกรงกลัวต่อการกระทำ ดังนั้น เราทำการทำงานอะไร แม้ต้มข้าว หุงแกงก็ตาม ให้มีความรู้สึกตัว จะไปเก็บผักเก็บหญ้า ก็มีความรู้สึกตัว อย่าไปทำโดยที่ไม่รู้สึกตัว

เมื่อเราไม่รู้สึกตัวขณะทำ ขณะพูด ขณะคิด อันนั้นแหละท่านเรียกว่าโมหะ จิตใจสัตว์มันเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำยังไง เราก็ต้องเอาความรู้สึกตัวนี่ตี้ เมื่อรู้สึกตัวเเล้ว เป็นยังไง ความไม่รู้สึกก็หายไป มันหายไป


ความไม่รู้สึกตัวนั้นมันจึงไม่มีที่คน มันเข้ามาชั่วขณะเราเผลอเท่านั้นเอง ทางธรรมะเรียกว่าโมหะ โมหะมันไม่ได้มี แต่เราพยายามให้มันรู้สึก มีสติ เมื่อมีสติแล้ว โมหะเข้ามาไม่ได้ ในขณะโมหะเข้ามาเมื่อใด อันนั้นแหละ สัตว์เข้ามาพร้อมกันทันที โมหะ จึงว่าความหลง ท่านว่าอย่างนั้น

ความหลงตัว ลืมตัวนี่ ทำ พูด คิด ไม่มีความละอายเลย เราดูได้น่ะ คนไปโต้ไปเถียงกัน เอาแต่ข้างชนะ แต่คนที่คอยแก้ปัญหานั้น เขาไม่เอาชนะ แล้วคนที่จะคอยแก้ปัญหาน่ะ จะพูดดียังไง คนนั้นไม่เชื่อฟัง ท่านว่านั้น เขาจะไม่ฟังเลย ท่าน..คนโบราณจึงเปรียบอุปมาไว้ เหมือนกับไฟนี่ สุมกองใหญ่ๆ แล้วเผากองฟ้า แต่ฟ้านั้นไม่มีเชื้อไฟ เผาเท่าไหร่ ฟ้าก็ไม่ร้อน

ดังนั้น คนที่ยิ่งโกรธ ก็ยิ่งร้อน คนก็ยิ่งโกรธ ก็ยิ่งร้อน แต่เราจะพยายามให้ความดีกับคนนั้น เขาเอาไม่ได้ เขาเรียกว่า น้ำชาล้นแก้ว ต่อเมื่อเขาหมดความโกรธแล้ว เราจะไปให้เหตุผล ไปอธิบายให้เขา เขาก็ยังพอรับได้...บางคน

บางคนรับไม่ได้ เมื่อมันรับไม่ได้ จะไปอธิบายให้มันเท่าไหร่ เหมือนกับเราทวนกระแสของคน

เมื่อเราไปทวนกระแสนั้น เราก็จะพังไปด้วยเขา เหมือนกับเราที่ไปจับคนที่จมน้ำ ถ้าเราไม่รู้จักจับ มันจะกอดคอเรา เมื่อมันกอดคอเรา ก็เหมือนเราไปต่อสู้กับคนนั้นนั่นเอง อย่างไปต่อสู้คนร้ายนั่น ต้องพยายามปลีกคนร้ายไปให้ได้ ถ้าคนใดไปต่อสู้คนร้าย ก็แสดงว่าคนนั้นยังไม่รู้จักวิธีจับคนจมน้ำ ท่านว่าอย่างนั้น เมื่อคนใดรู้จักวิธีจับคนจมน้ำได้ ไม่ต้องสู้ และไม่ต้องหนี (หัวเราะเบาๆ) สู้ก็ไม่สู้ หนีก็ไม่หนี

ถ้าไปสู้..บัดนี่ ก็ต้องชกต่อยกัน หนีก็เลยไม่ชกเขาได้ มันเป็นอย่างนั้น จึงว่า ไม่ต้องสู้ และไม่ต้องหนี อยู่ที่นี่ ไม่หนี ไม่สู้ อยู่ด้วยสติปัญญา สู้ด้วยสติปัญญา หนีด้วยสติปัญญา พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น

ดังนั้น เรื่องความรู้สึกตัว ตื่นตัว จึงมีอานิสงส์มาก อานิสงส์มากที่สุด จนสามารถที่อยู่เหนือโลกได้ จนสามารถอยู่กับคนเลวร้ายได้อย่างไม่มีภัย ท่านว่าอย่างนั้น

พวกเราเป็นคน ต้องพยายามศึกษาเรื่องนี้ให้มาก เงินทองช่วยได้เป็นบางอย่าง เสื้อผ้าช่วยได้เป็นบางอย่าง ยารักษาโรคช่วยได้เป็นบางอย่าง แต่เรื่องนี้ช่วยไปได้เหมือนฟ้ากวมดินทีเดียว ช่วยได้ทุกวิธี เพราะว่ามันไม่เดือดร้อน เขาไม่มีเงิน เราไม่มีเงิน เราก็ให้ไม่ได้ เมื่อเขาไม่มีเงิน เรามีเงิน... เราก็ต้องหางานให้เขาทำ แน่ะ..ช่วยเขาได้อย่างนั้น ไม่ใช่เอาเงินให้เฉยๆ ช่วยเขา ช่วยเขาให้เขาหางานทำ ให้เขามีงานทำ เมื่อเขามีงานทำแล้ว เขาจะได้รู้สึกบุญคุณของที่มีมานั้น

สมมุติ บริษัทห้างร้านก็เช่นเดียวกัน บางคนไม่เข้าใจบริษัท เอ้า..บริษัทห้างร้านเอาเปรียบเรานี่ เป็นคนเข้าใจผิด เอาเปรียบสังคมมั้ย ไม่ใช่ ถ้าเขาไม่มีบริษัท ไม่มีห้างร้าน ไม่มีโรงงานให้เราทำ เราจะไปทำงานที่ไหน ก็ต้องคนนั้นเขามีสติปัญญา เขาพยายามให้เรามีงานมีการทำ เราก็ต้องทำดีตี้ ทำดีให้มีบริษัทห้างร้านเจริญขึ้น โตขึ้น คนทั้งโลกก็ไปทำงานในบริษัทห้างร้านนั้น

แต่คนนั้นเขามีปัญญาเท่านั้นเอง เขาก็ไปเป็นหนี้คนอื่นมา อาตมาถามหลายคน ที่เขามีบริษัทห้างร้าน เขาต้องไปยืมเงินแบ็งค์ธนาคารนะ เพื่อคนที่ไม่มีความสามารถ ไม่มีปัญญาไปยืมเอาเงินธนาคารมาตั้งบริษัทห้างร้าน แล้วจะไปว่าเขาดูถูกเอาทำไม ก็เรานี่เองเป็นคนดูถูกเขา เรานี่เองเป็นคนเอาเปรียบเขานี่ ไม่อยากทำให้เขาเจริญ อันนี้เป็นการเข้าใจไม่ตรง อันนี้พูดความจริงสู่กันฟัง เราต้องควรพยายามส่งเสริมเขา ปีนี้เขาได้กำไรสิบบาทนะ ปีหน้าเราพยายามให้เขาได้กำไรยี่สิบบาท เขาจะขึ้นราคาให้เราเลย เป็นอย่างนั้น ในอัตราเงินมันต้องขึ้นมา เมื่อเขาขาดทุน เขาล้มบริษัทห้างร้าน เราจะไปทำงานที่ไหน ก็ไม่มีงานทำ ก็จนเข้ามานี่

ความจนจึงเป็นโรค ความโงเขลาจึงเป็นโรค ความไม่ฉลาดจึงเป็นโรค ความทุกข์จึงไม่เป็นโรค...เอ้อ...จึงเป็นโรคคำว่าโรค หมายถึงความทุกข์ทั้งนั้น โรคทางกายก็เพราะจน โรคทางใจก็เพราะไม่ฉลาด ทุกข์ทางกายก็เพราะไม่รู้จักงาน ทุกข์ทางใจก็พูดไม่ดี คิดไม่ดี
ดังนั้น เรามาที่นี่ ต้องช่วยกัน ให้รู้จักประคับประคองตัวเองและคนอื่นให้เป็น ถ้าเราไม่รู้จักประคับประคองคนอื่นให้เป็นแล้วก็ไม่ใช่รู้ธรรมะ ท่านว่า ธรรมะจึงเอาไปใช้กับคนจนก็ได้ เอาไปใช้กับคนมีก็ได้ เอาไปใช้กับคนเรียนหนังสือมากๆ ก็ได้ เอาไปใช้กับคนที่ไม่เรียนหนังสือก็ได้ อย่างอาตมานี่ (พูดกลั้วหัวเราะ) เขียนหนังสือไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ได้ แต่มาอยู่กับสังคม ก็อยู่ได้ ไปพูดธรรมะให้คนฟังก็ได้

ธรรมะที่อาตมาพูดนี่ ไม่ใช่เป็นธรรมะของเด็ก ไม่ใช่เป็นธรรมะของคนแก่ ไม่ใช่เป็นธรรมะของคนรวย ไม่ใช่เป็นธรรมะของคนจน เป็นธรรมะของบุคคลที่เอามาใช้นั่นแหละ จึงว่า ธรรมะอันนี้จึงว่าไม่ขึ้นอยู่กับลัทธินิกาย ไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติตระกูล ขึ้นอยู่กับความที่เอามาใช้ให้มันถูกต้องนั่นเอง

ดังนั้น ธรรมะนี้จึงเอาไปใช้กับการกับงานทุกวิธีได้ กินข้าวก็มีธรรมะ อาบน้ำก็มีธรรมะ ที่ไหนก็มีธรรมะ ศึกษาธรรมะได้ทุกสถานที่ จึงว่า ศึกษาให้เป็น แต่เราศึกษาไม่เป็นก็เดือดร้อน เท่านั้นเอง จึงว่า ศึกษารู้แล้วต้องเอาไปแก้ที่ตัวเรา

ที่พูดให้ฟังวันนี้ก็เห็นว่าพอเหมาะสมกับที่พวกเรา วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๕ เดือนมิถุนานะ (ผู้ฟังตอบ-ครับ) เดือนมิถุนาแล้วนี่ เดี๋ยวๆ ก็จะได้แยกย้ายกันไป ให้ทุกคนจำนะ ไม่ใช่ว่า มาฟังแล้วหลวงพ่อพูดไม่ดี (หัวเราะเบาๆ) ให้เราเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น คือเราพูดฟังคนตรงๆ พูดจริง