เมื่อหลวงพ่อเทียนพบอาจารย์เซน

เมื่อหลวงพ่อเทียนพบอาจารย์เซน
การเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก
ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
26 ธันวาคม 2531
หลวงพ่ออบรมธรรมะปฏิบัติที่สวนยาง อำเภอหาดใหญ่
พ.ศ. 2525
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้รับนิมนต์จากชาวสิงคโปร์ให้เดินทางไปเผยแพร่วิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 โดยก่อนหน้านี้ ท่านโกวิท เขมานันทะ ซึ่งขณะนั้นยังครองเพศเป็นบรรพชิตอยู่ ได้เผยแพร่คำสอนและแนวการปฏิบัติของหลวงพ่อเทียน ให้ชาวสิงคโปร์ได้รู้สึกเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้ว
การนิมนต์หลวงพ่อเทียนไปประเทศสิงคโปร์ในครั้งนี้ มีความสำคัญพิเศษถึงสองประการ
ประการแรกเป็นการเดินทางไปเผยแพร่การปฏิบัติธรรม ของหลวงพ่อเทียนในประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรก ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์กลุ่มหนึ่ง ได้ปฏิบัติธรรมในแนวทางของหลวงพ่อเทียนตลอดมา กระทั่งถึงปัจจุบัน
ประการที่สอง เป็นการพบปะกันเป็นครั้งแรก ระหว่างอาจารย์ธรรมะที่ยิ่งใหญ่สองท่าน จากพุทธศาสนาในสองสาย ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน คือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ปรมาจารย์แห่งการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของไทย และท่านยามาดะ โรชิ (Yamada Roshi) อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่น
การพบปะกันในครั้งนี้ นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทยและญี่ป่น และเป็นที่รอคอยของชาวสิงคโปร์มาเป็นเวลานาน
หลวงพ่อเทียนและคณะอันประกอบด้วยข้าพเจ้าและอาจารย์ชูศรี รุ่งโรจนารักษ์ ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 โดยขบวนรถไฟสายใต้สู่หาดใหญ่ โดยหลวงพ่อเดินทางด้วยรถตู้นอนชั้นสอง ส่วนข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีนั่งไปในขบวนรถชั้นสาม เพื่อไปร่วมเปิดอบรมการปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวหาดใหญ่ ที่สวนยาง บ้านของคุณวิสิฐ ทวีกิติกุล ตามที่ชาวหาดใหญ่ได้นิมนต์เป็นเวลาสองสัปดาห์
ชาวหาดใหญ่ได้ร่วมกันปลูกกุฏิเล็ก ๆ ในสวนยางขึ้นหลายหลัง โดยนิมนต์ให้หลวงพ่อพักอยู่ในที่หลังหนึ่ง ส่วนหลังอื่น ๆ สำหรับผู้ที่มาปฏิบัติแบบ เก็บอารมณ์
ในการเปิดอบรมการปฏิบัติธรรมตลอดทั้งสองสัปดาห์ มีผู้มาฟังธรรมกันเป็นจำนวนมากไม่เว้นแต่ละคืน และมีผู้ที่มาอยู่ปฏิบัติเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน นับเป็นการวางรากฐานการปฏิบัติธรรมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งแก่ชาวหาดใหญ่ อันยังผลให้ชาวหาดใหญ่รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและปฏิบัติธรรมแบบเคลื่อนไหวในแนวของหลวงพ่อเทียนต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการอบรม คุณวิสิฐ และเพื่อน ๆ ชาวหาดใหญ่จำนวนหนึ่งได้ไปส่งหลวงพ่อเทียนและคณะถึงปาดังเบซาร์ อันเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย หลวงพ่อเทียน ข้าพเจ้า และอาจารย์ชูศรี ได้เดินทางเข้าไปในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525
คณะของเราได้เดินทางด้วยรถประจำทางจากปาดังเบซาร์ถึงเกาะปีนังในวันเดียวกัน และได้พักอยู่ที่วัดไทยในปีนังประมาณ 3-4 วัน ข้าพเจ้าและอาจารย์ชูศรี ได้พาหลวงพ่อขึ้นรถเคเบิ้ลไปถึงยอดเขาปีนัง และได้เยี่ยมชมวัดฮินดูบนยอดเขานั้น อีกทั้งทัศนียภาพรอบ ๆ เกาะปีนัง
หลวงพ่ออบรมธรรมะปฏิบัติที่สวนยาง อำเภอหาดใหญ่
พ.ศ. 2525
ในเมืองปีนัง หลวงพ่อได้เยี่ยมชมวัดพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน วัดในลัทธิขงจื๊อ วัดในลัทธิเต๋า สุเหร่าในศาสนาอิสลาม และโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ซึ่งทั้งหมดนี้หลวงพ่อได้แต่บอกว่าใครรู้อย่างไหนก็สอนได้แต่อย่างนั้น
เราได้นั่งรถบัสในตอนกลางคืนจากเกาะปีนังไปกรุงกัวลาลัมเปอร์อันเป็นเมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ในตอนเช้ามืด และได้นั่งรถแท็กซี่ไปยังวัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในกลางเมืองนั้นและพักอยู่ที่นั่นอีกประมาณ 3-4 วัน ได้รับการต้อนรับจากพระที่นั่นด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดี
ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ หลวงพ่อได้เยี่ยมชมมัสยิดแห่งชาติของมาเลเซีย พิพิธภัณฑ์และสุเหร่าที่สำคัญอีกบางแห่ง ข้าพเจ้าและอาจารย์ชูศรีได้พาหลวงพ่อขึ้นไปถึงยอดเขาเกนติ้ง เพื่อชมทัศนียภาพและดูแหล่งการพนันที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย คณะของเราได้เดินทางด้วยขบวนรถไฟในตอนกลางคืน จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังประเทศสิงคโปร์ ถึงประเทศสิงคโปร์ในตอนเช้า ของวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2525
ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองของสิงคโปร์ เราได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ โดยเฝ้าหน้าที่มิได้ตรวจค้นกระเป๋าแต่อย่างใด ด้วยเห็นว่าเป็นคณะของพระที่มุ่งมาเพื่อการเผยแพร่ศาสนา
จากสถานีรถไฟสิงคโปร์ ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ถึงเดวิด ลอย (David Loy) อาจารย์ชาวอเมริกัน แห่งมหาวิทยาลัยสิงคโปร์ในขณะนั้นให้ได้ทราบ เดวิดและชาวสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกล่มใหญ่ กำลังรอคอยข่าวคราวการเดินทางไปถึงของคณะของเราอยู่ เดวิดได้มารับเราถึงสถานี และพาคณะของเราไปพักที่บ้าน บ้านของเดวิดเป็นบ้านพักของอาจารย์มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ซึ่งกว้างขวางพอสมควร
เดวิดได้ใช้บ้านพักหลังนี้ เป็นศูนย์กลางของเซน และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแบบเซนในสายของท่านยามาดะ โรชิ อันเป็นสายที่ผสมผสานระหว่างรินไซเซน (Rinzai Zen) และโซโตะเซน (Soto Zen) ของญี่ปุ่น
ข้าพเจ้าได้รู้จักกับเดวิดตั้งแต่เมื่อครั้งเราเรียนหนังสือด้วยกันที่ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยฮาวายในช่วงปี พ.ศ. 2516-2518 และหลังจากนั้นเราก็ได้ติดต่อกันเรื่อยมา
เดวิดเคยเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง และเมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าได้บวชเป็นพระภิกษุ เพื่อปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน เดวิดก็ได้เดินทางมาเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านที่กรุงเทพฯ และที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่นด้วย
ข้าพเจ้าได้ลาราชการ อุปสมบทเพื่อปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ถึงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นเวลา 5 เดือนกับ 1 วัน โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทพร้อมกับชาร์ลส์ ทาบัคสนิค (Charles Tabacznik) เพื่อนชาวออสเตรเลีย ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามว่า พระชาร์ลส์ นิโรโธ และคุณไพบูลย์ แซ่จึง มีพระราชวีรมุนี เจ้าคณะจังหวัดเลยเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้น ก็ได้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมในพรรษา กับหลวงพ่อเทียนที่วัดโมกขวนารามจังหวัดขอนแก่น
ครั้นออกพรรษา หลวงพ่อเทียนและข้าพเจ้าได้ลงมากรุงเทพฯ และพักที่บ้านของข้าพเจ้า 1 คืน และในตอนบ่ายวันนั้น เดวิดก็ได้มาที่บ้านของข้าพเจ้า และได้พบหลวงพ่อเทียนเป็นครั้งแรก
หลวงพ่อได้แสดงธรรมแก่เดวิดหลายอย่าง เช่น ท่านให้เดวิดมองตรง ๆ เฉย ๆ แล้วท่านเดินกลับไปกลับมาตรงหน้าเดวิด แล้วบอกให้เดวิดดูความคิดโดยไม่ต้องจ้องเหมือนอย่างที่ดูท่าน
อีกอย่างหนึ่งท่านจุดไม้ขีดไฟขึ้น ไฟสว่างขึ้นครู่หนึ่งก็มอดดับลง แล้วท่านบอกเดวิดว่า การปฏิบัติกรรมฐานแบบนั่งนิ่งหลับตา ให้ความสงบหรือความสว่างเพียงชั่วครั้งชั่วคราว เหมือนจุดไม้ขีดไฟ ยังไม่ใช่ความสงบหรือความสว่างที่แท้จริง แล้วท่านจูงมือเดวิด เดินคลำกำแพงห้องไปรอบ ๆ จนกระทั่งถึงปากประตู ท่านก็ได้ผลักประตูออก ท่านจูงมือเดวิดก้าวออกไปนอกห้องซึ่งเป็นดาดฟ้า ท่านบอกเดวิดว่า ข้างนอกห้องเป็นแสงสว่างที่แท้จริง อยู่ในห้องเหมือนอยู่ในความคิด ออกนอกห้องเหมือนออกจากความคิด
เดวิดรู้สึกประทับใจในตัวของหลวงพ่อมาก
เมื่อหลวงพ่อเสร็จธุระที่กรุงเทพฯ และกลับขึ้นไปอยู่ที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่นแล้ว ข้าพเจ้าก็มีโอกาสพาเดวิดขึ้นไปกราบนมัสการท่านอีก และเดวิดก็ได้พักอยู่ที่วัดโมกขวนารามเป็นเวลา 1-2 วัน
หลังจากนั้นเดวิดกับข้าพเจ้า ซึ่งขณะนั้นยังคงเป็นพระภิกษุอยู่ ได้เดินทางจากกรงเทพฯ โดยทางเครื่องบินเข้าไปในประเทศพม่าเป็นเวลา 7 วัน โดยเราได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองร่างกุ้ง มัณฑเล และพุกาม และได้พักอาศัยอยู่ในวัดของพม่าโดยตลอด เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว เดวิด ข้าพเจ้า และพระภิกษุไพบูลย์ก็ได้เดินทางลงไปยังอาศรมนวชีวัน จังหวัดสงขลา เพื่อกราบนมัสการท่านโกวิท เขมานันทะ
ณ ที่นั้นเดวิดก็ได้พบกับท่านโกวิท เขมานันทะ เป็นครั้งแรก เดวิดรู้สึกประทับใจในท่านโกวิท เขมานันทะ เป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน ซึ่งต่อมาในภายหลัง เดวิดก็ได้นิมนต์ท่านโกวิท เขมานันทะ ให้ไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศสิงคโปร์ อันเป็นการปูพื้นฐานคำสอนของหลวงพ่อเทียนแก่ชาวสิงคโปร์เป็นครั้งแรก
จากอาศรมนวชีวัน เดวิดก็ได้เดินทางต่อไปยังหาดใหญ่ ประเทศมาเลเซียและกลับไปยังประเทศสิงคโปร์ ส่วนข้าพเจ้าและพระภิกษุไพบูลย์ได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่อาศรมนวชีวันอีกระยะหนึ่ง
ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของอาศรมนวชีวันเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาภายหลัง หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ลาสิกขาบทแล้ว ก็ได้มีโอกาสกลับไปเขียนหนังสือที่นั่นอีกเป็นเวลา 4-5 เดือน
ขอย้อนกลับมายังประเทศสิงคโปร์ เมื่อคณะของเรามาถึงบ้านพักแล้ว หลวงพ่อก็ได้กางกลดพักอยู่กลางห้องชั้นสอง โดยมีข้าพเจ้าพักอยู่ใกล้ ๆ ส่วนอาจารย์ชูศรีไปพักอยู่อีกห้องหนึ่ง
เมื่อชาวสิงคโปร์ทราบข่าวการเดินทางมาถึงของหลวงพ่อเทียนกับคณะ ต่างก็ค่อย ๆ ทยอยกันเข้ามาพบหลวงพ่อ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวสิงคโปร์ได้พบหลวงพ่อเทียน หลังจากที่ได้ยินได้ฟังเรื่อราวของหลวงพ่อเทียนจากปากคำของท่านโกวิท เขมานันทะ มาเป็นเวลานาน
ขณะนั้นท่านโกวิท เขมานันทะ ไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีได้ผลัดกันเป็นล่ามให้แก่หลวงพ่อตลอดเวลา ในบ่ายวันนั้นเองหลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ให้แสดงธรรมในห้องกรรมฐานของเซนซึ่งอยู่ชั้นล่างของที่พัก มีผู้มาฟังธรรมประมาณ 10 คน เพราะข่าวการเดินทางมาถึงของหลวงพ่อเทียนยังไปไม่ทั่ว หลังจากนั้นหลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมในที่สาธารณะเกือบทุกวัน เช่น ที่สมาคมศาสนา (Sasana Association) ซึ่งเป็นศูนย์การปฏิบัติธรรมแบบทิเบต มีผู้ฟังประมาณ 40-50 คน ที่สมาคมเทวญาณวิทยา (Theosophical society) มีผู้ฟังประมาณ 40-50 คนเช่นกัน ที่วัดไทยในสิงคโปร์มีผู้ฟังประมาณ 50-60 คน และที่ศูนย์เซนอันเป็นที่พักอีกหลายครั้งหลายครา ซึ่งก็มีผู้ฟังเป็นจำนวนมากเช่นกัน
นอกจากนั้นมีชาวสิงคโปร์เข้ามาขอฟังธรรมะจากหลวงพ่อเป็นส่วนตัวอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญก็มี เค ซี อูน (K. C. Oon) วอง ชง-เลง (Wong Choong-Leng) มิสคี (Ms. Kees) ทั้งคนพี่และคนน้อง หมอตัน (Dr. Ton) เจมส์ ชาน (James Chan) กวี (Gwee) และหยกเหลียน (Geok Lian)
มีอยู่วันหนึ่งที่บังเอิญข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีไม่อยู่ หยกเหลียน เยาวชนนักปฏิบัติธรรมหญิงได้เข้าไปพบหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ได้สอนธรรมะให้โดยไม่ได้ใช้ภาษาพูด เมื่อข้าพเจ้ากับอาจารย์ชูศรีกลับมาถึง ปรากฏว่า หยกเหลียนสามารถเข้าใจธรรมะของหลวงพ่อ และได้เป็นนักปฏิบัติธรรมที่สำคัญคนหนึ่งในแนวทางของหลวงพ่อเทียน
ที่ศูนย์เซนของเดวิด ลอย ในสิงคโปร์มีสมาชิกอยู่ประมาณ 30-40 คน มีการนั่ง“ ซาเซน” (zazen) หรือกรรมฐานของเซนเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง โดยมีเดวิด ลอยเป็นผู้ที่คอยแนะนำการปฏิบัติ และในปีหนึ่งก็จะเชิญท่านยามาดะ โรชิ (Yamada Roshi)อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นมาควบคุมการปฏิบัติครั้งหนึ่งประมาณ 5-7 วัน ในปีนี้ก็เช่นเดียวกันได้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว ที่จะเชิญท่านยามาดะ โรชิ ให้มาควบคุมการปฏิบัติแบบอุกฤษฎ์ของเซน (sesshin หรือ retreat) เป็นเวลา 5 วัน
และเนื่องจากเดวิด ลอย และชาวสิงคโปร์ ได้รู้จักและได้รับฟังเรื่องราวของหลวงพ่อเทียนมาเป็นเวลานานพอสมควร ทุกคนจึงลงความเห็นกันว่า ให้นิมนต์หลวงพ่อเทียนมาในโอกาสเดียวกันนี้
บัดนี้หลวงพ่อเทียนได้มาประกาศธรรมที่ศูนย์เซน ก่อนหน้าที่การปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์ของเซนจะเริ่มขึ้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ สมาชิกของเซนเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนและตัวของหลวงพ่อเป็นยิ่งนัก ยิ่งใกล้ถึงวันปฏิบัติแบบอุกฤษฎ์เข้าไปเท่าใด คำถามในเรื่องแนวทางการปฏิบัติแบบนั่งนิ่งและภาวนา “มู” (mu ความว่าง) ของเซน กับวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียนก็ยิ่งดังขึ้นเท่านั้น และหลวงพ่อก็ได้ตอบคำถามในเรื่องนี้แก่สมาชิกเซนและชาวสิงคโปร์ทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้ง
ก่อนหน้าที่การปฏิบัติครั้งใหญ่ประจำปีของเซนจะมาถึงเพียงไม่กี่วัน หลวงพ่อก็ได้ล้มป่วยด้วยอาการปวดที่กระเพาะอย่างรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาล โดยมีชาวสิงคโปร์เป็นจำนวนมากตามไปเยี่ยมไข้ท่านด้วยความห่วงใย
ในตอนเย็นก่อนการปฏิบัติธรรมครั้งใหญ่ของเซนจะเริ่มขึ้นเพียง 1 วัน ท่านยามาดะ โรชิ ก็เดินทางมาถึง พร้อมด้วยล่ามชาวอเมริกันคนหนึ่ง โดยมีเดวิด ลอย และสมาชิกเซนจำนวนหนึ่งไปให้การต้อนรับ
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ท่านยามาดะ โรชิ เป็นอาจารย์เซนในสายที่เป็นการผสมผสานระหว่าง รินไซเซน และ โซโตะเซน โดยท่านได้รับการส่งมอบธรรมะมาจากท่านยาสุทานิ โรชิ (Yasutani Roshi) ท่านยามาดะ โรชิ เป็นอาจารย์เป็นที่เป็นฆราวาส มีภรรยาและลูก โดยลูก ๆ ของท่านโตและแยกย้ายกันไปหมดแล้ว ท่านอยู่กับภรรยาของท่านเพียงสองคนที่ ซานอาน เซนโด (San-un Zendo) ในเมืองคามาคุระ (Kamakura) ประเทศญี่ป่น โดยมีลูกศิษย์ชาวตะวันตกไปปฏิบัติใน “ เซนโด” (ห้องกรรมฐานของเซน)ของท่านประมาณ 20 กว่าคน
ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในสหรัฐอเมริกาและในยุโรปตะวันตก ท่านมีอายุมากกว่าหลวงพ่อเทียนอยู่หลายปี ข้าพเจ้าเคยไปปฏิบัติกับท่านคราวหนึ่ง เมื่อครั้งที่อยู่ฮาวาย จึงรู้แนวทางการปฏิบัติของท่านเป็นอย่างดี
การปฏิบัติธรรมครั้งใหญ่ของเซนที่สิงคโปร์ในครั้งนี้มีสมาชิกชาวสิงคโปร์เขาร่วมในการปฏิบัติประมาณ 20-25 คน โดยมีเดวิด ลอย เป็นหัวหน้าศิษย์ทำหน้าที่นำในการปฏิบัติและสวดมนต์ ท่านยามาดะ โรชิ เป็นอาจารย์เป็นที่ให้ โกอาน” (ko-an, ปริศนาธรรม) และ สอบอารมณ์ (kokusan) แก่นักปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมของเซนใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าตัดสินใจเข้าร่วมการปฏิบัติธรรมของเซ็นในครั้งนี้ เพื่อรายงานความเป็นไปทั้งหมดให้หลวงพ่อได้ทราบ ส่วนอาจารย์ชูศรีคอยดูแลหลวงพ่ออยู่ที่โรงพยาบาล
การปฏิบัติธรรมแบบอุกฤษฏ์ของเซนได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าได้รับ โกอาน” จากท่านยามาดะ โรชิ ให้ภาวนาและค้นหาคำตอบของคำว่า มู” (mu) หรือ “ความว่าง
วิธีปฏิบัติก็คือ ให้นั่งนิ่งในท่าขัดสมาธิบนเบาะและหมอนรองนั่ง ปิดเปลือกตาลงครึ่งหนึ่ง มิให้ลืมตาเต็มที่และมิให้ปิดตาสนิท จากนั้นหายใจเข้าก็ให้ภาวนาคำว่า มู” หายใจออกก็ให้ภาวนาคำว่า มู” ให้กายและใจทั้งหมดจดจ่ออยู่ที่คำว่า มู” เพียงคำเดียว และจะต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่า มู” คืออะไร
ในระหว่างการปฏิบัติ ข้าพเจ้าได้เข้าพบท่านยามาดะ โรชิ หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านได้อธิบายให้ข้าพเจ้าฟังว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้นแม้เราจะรู้สึกว่าไม่ได้ผล แต่ขอให้พยายาม หากไม่ได้ผลในชาตินี้ก็จะไปส่งผลในชาติหน้า เหมือนเรามีโจทย์คณิตศาสตร์อยู่ และคิดอย่างหนักแต่ก็คิดไม่ออกจนดึกและเข้านอนไป รุ่งเช้าคำตอบนั้นอาจจะผุดขึ้นมาอย่างง่ายดาย ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องนี้ให้หลวงพ่อฟังในตอนหลัง เห็นท่านส่ายหน้านิดหนึ่งและได้แต่ยิ้ม ๆ
การปฏิบัติธรรมของเซนผ่านพ้นไปได้ 4 วัน หลวงพ่อก็ออกจากโรงพยาบาล และท่านได้ดูการปฏิบัติของเซ็นในวันสุดท้ายด้วยตัวของท่านเอง
ครั้งหนึ่งที่ศูนย์เซน มีผู้เขียนถามหลวงพ่อเทียนในที่ประชุมว่า ท่านรู้ธรรมะถึงที่สุดหรือไม่ หรือยังมีธรรมะที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงอีก
หลวงพ่อได้ตอบว่า สิ่งที่สูงที่สุดนั้น ย่อมไม่มีอะไรที่จะสูงยิ่งไปกว่าอีก สีที่ดำที่สุดนั้นไม่มีอะไรที่จะดำยิ่งไปกว่าอีก สีที่แดงที่สุดนั้นย่อมไม่มีอะไรที่จะแดงยิ่งไปกว่าอีก
คำตอบของท่านทำให้ที่ประชุมนิ่งอึ้งไปชั่วขณะหนึ่ง ทุกคนต่างก็รู้สึกพึงพอใจในคำตอบนั้น
ในตอนบ่ายวันสุดท้ายของการปฏิบัติ ท่านยามาดะ โรชิ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกเซนทั้งหมดได้ซักถามปัญหาในที่ประชุม หลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมฟังการถามตอบปัญหาด้วย โดยมีข้าพเจ้านั่งอยู่ข้าง ๆ คอยแปลถ้อยความทั้งหมดให้หลวงพ่อฟังตลอดเวลา
คำถามสำคัญข้อหนึ่ง ซึ่งสมาชิกเซนทั้งหลายอยากฟังความเห็นจากท่านยามาดะ โรชิ มากก็คือแนวทางการปฏิบัติของเซน และวิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน ซึ่งท่านยามาดะ โรชิ ก็ได้ตอบแบบออมชอมว่า ทั้งสองวิธีต่างก็มีข้อดีทั้งนั้นสุดแล้วแต่ว่าใครจะสนใจวิธีไหน และท่านได้ตอบคำถามข้ออื่น ๆ อีกกว่าครึ่งชั่วโมง
หลวงพ่อได้นั่งฟังโดยตลอดและสุดท้าย ท่านได้บอกข้าพเจ้าว่า
หลวงพ่ออยากถามท่านยามาดะ โรชิ ว่า คนเราสามารถปฏิบัติให้ถึงที่สุดทุกข์ในชีวิตนี้ไหม
แต่ก็น่าเสียดายกี่ข้าพเจ้าลังเลที่จะถามให้ท่านและการประชุมก็ได้สิ้นสุดลง ข้าพเจ้าเรียนถามความเห็นจากหลวงพ่อถึงธรรมะของท่านยามดะ โรชิ
ท่านได้ตอบข้าพเจ้าว่า หลวงพ่อวิ่งรอบท่านยามาดะ โรชิ ตั้งหลายสิบรอบแล้ว
และว่า ในด้านสติปัญญาแล้ว ท่านยามาดะ โรชิ ยังห่างไกลท่านพุทธทาสอยู่อีกไกล
หลวงพ่อกับอาจารย์ยามาดะ โรชิ ผู้นำลัทธิเป็นของญี่ปุ่น
เดวิด ลอย อาจารย์ทวีวัฒน์ และอาจารย์ชูศรี
การประชุมได้สิ้นสุดลงและเดวิด ลอยได้แนะนำท่านยามาดะ โรชิ ให้รู้จักกับหลวงพ่อเทียน และอาจารย์ธรรมะทั้งสองท่านได้แลกเปลี่ยนของที่ระลึกต่อกัน จากนั้นอาจารย์ทั้งสองท่านก็ได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก มีเสียงกล่าวขานกันว่า น่าเสียดายที่มิได้มีการจัดรายการให้อาจารย์ธรรมะทั้งสองท่านได้สนทนาโต้ตอบกัน
เดวิด ลอย เองซึ่งเป็นผู้จัดรายการทั้งหมด ก็ลังเลที่จะทำเช่นนั้น เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกของเซนเกือบทั้งหมดเกิดความปั่นป่วนระส่ำระสายในแนวทางของการปฏิบัติ แม้ท่านยามาดะ โรชิ จะมาควบคุมการปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง แต่ความไม่เชื่อมั่นในแนวทางการปฏิบัติของเซนในญี่ปุ่นปัจจุบันก็ได้เกิดขึ้นเสียแล้ว
เช้าวันรุ่งขึ้น ท่านยามาดะ โรชิ ก็ได้เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในทันที และต่อมาท่านก็ได้ปฏิเสธที่จะเดินทางมายังประเทศสิงคโปร์อีก
ท่านยามาดะ โรชิ ได้เดินทางกลับไปแล้ว สมาชิกเซนกลุ่มใหญ่ได้เข้ามาห้อมล้อมหลวงพ่อ และซักถามปัญหาความสงสัยต่าง ๆ จากหลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ตอบตรง ๆ อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง จนเป็นที่หายข้องใจกัน
ท่านได้ย้ำให้เคลื่อนไหวดูความคิด มิให้นั่งนิ่ง
หลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ของเซนผ่านพ้นไป สมาชิกเซนกลุ่มใหญ่ได้หันมาหาแนวทางของหลวงพ่อเทียน
หลวงพ่อ ข้าพเจ้า และอาจารย์ชูศรี ได้พักอยู่ที่ศูนย์เซนในประเทศสิงคโปร์ต่ออีกประมาณ 3-4 วัน จึงได้เดินทางออกจากประเทศสิงคโปร์โดยทางเครื่องบินเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เพื่อกลับประเทศไทย มีสมาชิกเซนและชาวสิงคโปร์อื่น ๆ มาส่งหลวงพ่อกับคณะที่สนามบินเป็นจำนวนมาก
การเดินทางไปประเทศสิงคโปร์เป็นครั้งแรกของหลวงพ่อเทียนก็เป็นอันสิ้นสุดลง ทิ้งร่องรอยของทางเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในวงการธรรมะของสิงคโปร์ไว้เบื้องหลัง
ทราบต่อมาในภายหลังว่าสมาชิกที่ศูนย์เป็นของเดวิด ลอย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสมาชิกถึง 30-40 คน มาบัดนี้เหลือเพียง 3-4 คนเท่านั้น ที่เหลือทั้งหมดโดยการนำของ เค ซี อูน (K.C. Oon) ได้ออกไปตั้งกลุ่มใหม่ภายในแนวทางการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน และได้ตระเตรียมการที่จะนิมนต์หลวงพ่อเทียนให้เดินทางไปแนะนำการปฏิบัติที่ประเทศสิงคโปร์อีกเป็นครั้งที่สอง
ผู้ที่ผิดหวังที่สุดในครั้งนี้ได้แก่เดวิด ลอย เพื่อนของข้าพเจ้านั่นเอง แต่มิตรภาพของเราก็มั่นคงเกินกว่าที่ความแตกต่างในด้านแนวทางจะมาเปลี่ยนแปลงได้
ข้าพเจ้าใคร่ขอเพิ่มเติมในที่นี้ด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียน เป็นการหวนกลับคืนสู่รากเหง้าที่แท้ของพุทธศาสนา และเป็นเป็นในความหมายที่แท้อีกด้วย
ข้าพเจ้าเคยเล่าวิธีการปฏิบัติของเซ็นในญี่ปุ่นปัจจุบันที่ข้าพเจ้าเคยไปศึกษามาจากอาจารย์เซนอย่างน้อยสามท่านให้หลวงพ่อเทียนฟัง ท่านแสดงอาการไม่เห็นด้วยและไม่สนใจ
ภายหลังข้าพเจ้าอ่าน สุตรของเว่ยหล่าง” และ คำสอนของฮวงโป” ให้ท่านฟัง ท่านฟังด้วยความเอาใจใส่และยอมรับในความรู้ธรรมะจริงของท่านฮุยเน้ง (Hui-neng) และท่านฮวงโป (Huang-po)
ในหนังสือ สูตรของเว่ยหล่าง” มีข้อความอยู่หลายตอน ที่ท่านฮุยเน้งกล่าวคำตำหนิติเตียน บรรดาผู้ที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สอนสมาธิแบบนั่งนิ่งหลับตา
อีกครั้งหนึ่งข้าพเจ้าอ่านงานของ กฤษณะมูรติ (Krishnamurti) ให้หลวงพ่อเทียนฟัง ท่านรู้สึกพอใจมากและกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “ กฤษณะมูรติพูดเรื่องจิตใจโดยตรง พูดเรื่องการออกไปจากความคิด
ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าเคยพบหลวงพ่อเทียนกับเณรฝรั่งสายลามะของทิเบตรูปหนึ่งที่วัดสนามใน เห็นท่านกล่าวชี้แจงให้เณรฝรั่งรูปนั้นละจากความหลงผิด และเมื่อข้าพเจ้าเล่าเรื่องการภาวนาโกอาน มู” ให้หลวงพ่อเทียนฟัง ท่านบอกกับข้าพเจ้าว่า
ภาวนาไปเถอะ ภาวนาไปจนตายก็ไม่มีวันได้รู้
สำหรับข้าพเจ้าแล้วหลวงพ่อเทียนคือครูของข้าพเจ้า ท่านช่วยให้ข้าพเจ้าพ้นไปจากความหลงผิดในท่ามกลางความสับสนแห่งการแสวงหาธรรมะในโลกยคปัจจุบัน การอุบัติขึ้นของหลวงพ่อเทียน ไม่เพียงแต่ท้าทายวงการพุทธศาสนาของไทยเท่านั้น แต่เป็นการท้าทายพุทธศาสนาของโลกอีกด้วย