การเดินทางไปสิงคโปร์ ครั้งที่ 2 *

การเดินทางไปสิงคโปร์ ครั้งที่ 2 *
* เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์อาจารย์โกวิท เขมานันทะ และอาจารย์ชูศรี รุ่งโรจนารักษ์
ซู เชียน เต,  อ. ชูศรี,  หลวงพ่อ,  วี ชูน เซ็ง  และอ. โกวิท
ที่สิงคโปร์ 
 
หลวงพ่อได้รับนิมนต์จากศิษย์ชาวสิงคโปร์ให้ไปสอนวิธีปฏิบัติธรรมที่นั่น ทั้งนี้เนื่องจากมีชาวสิงคโปร์หลายท่านได้เคยฟังธรรมเทศนาและทดลองปฏิบัติตามวิธีของหลวงพ่อในคราวที่หลวงพ่อไปสิงคโปร์ครั้งแรก และได้รับคำแนะนำจากอาจารย์โกวิท ซึ่งพำนักอยู่ที่นั่นในขณะนั้น
บุคคลเหล่านี้มีความเลื่อมใสศรัทธาปรารถนาจะได้ฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อ จึงได้เช่าบ้านหลังใหญ่แบบโบราณ มีห้องถึง 10 ห้อง ตั้งอยู่บนถนนแบรงค์ซั่ม (Branksome) ไว้เป็นสถานที่รับรองหลวงพ่อ และเป็นสถานที่สำหรับเก็บอารมณ์ (retreat)
หลวงพ่อเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ประมาณบ่าย 2 โมงของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2525 ถึงสิงคโปร์ประมาณ 6 โมงเย็น มีชาวสิงคโปร์มารอรับที่สนามบิน 10 กว่าคน เมื่อไปถึงที่พักได้มีผู้มาสนทนาธรรมกับหลวงพ่อจนถึง 3 ทุ่มกว่า และบางท่านก็ได้พักที่บ้านหลังนี้เพื่อปฏิบัติธรรม ในการมาสิงคโปร์ครั้งที่ 2 นี้ อาจารย์โกวิท และอาจารย์ชูศรีทำหน้าที่ล่ามให้กับหลวงพ่อ และได้ช่วยให้คำแนะนำในการปฏิบัติธรรมกับชาวสิงคโปร์ที่มาเก็บอารมณ์
ผู้มาฟังธรรมเทศนาและสนทนาธรรมกับหลวงพ่อในครั้งนี้ มิได้มีแต่กลุ่มเซนเหมือนในคราวแรก แต่มาจากบุคคลทั่วไปหลายอาชีพ มีทั้งถ้าราชการชั้นสูง พ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ ทันตแพทย์ เป็นต้น ซึ่งทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางมาสิงคโปร์ครั้งแรกของหลวงพ่อ
ตามกำหนดการ หลวงพ่อจะเทศน์อบรมเวลา 2 ทุ่ม ครั้นถึงเวลา 1 ทุ่ม ผู้คนก็เริ่มทยอยกันมา ทำให้บรรยากาศของบ้านโบราณหลังนี้คึกคักทุกค่ำคืน ผู้ที่มาก็เปลี่ยนหน้ากันอยู่เสมอเนื่องจากพูดต่อ ๆ กันไป จึงมีคนใหม่ ๆ เพิ่มมาเรื่อย ๆ
การที่มีผู้ให้ความสนใจมากนั้น ประการหนึ่ง ก็เนื่องมาจากคำพูดหรือคำเทศน์ของหลวงพ่อซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากใจและจากประสบการณ์ของท่าน คำพูดธรรมดาของท่านนี้ เมื่อเป็นภาษาไทย ผู้ฟังคนไทยฟังแล้วก็อาจจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะมีความคุ้นเคยกับโวหารไทย แต่เมื่อแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งแล้ว บางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้นทันที หากคำพูดนั้นไม่มีสภาวะรองรับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คำพูดของหลวงพ่อนั้นมีสภาวะรองรับ เพราะมาจากใจ มาจากประสบการณ์ของท่าน จึงกระทบใจผู้ฟังทุกชาติทุกภาษา
ในการแปลนี้อาจารย์โกวิทและอาจารย์ชูศรีได้ขอร้องให้หลวงพ่อพูดให้แปลทีละประโยคเพราะหากหลวงพ่อพูดรวม ๆ แล้วการแปลจะยากขึ้น ปรากฏว่าผู้ฟังมีความพอใจมาก
สมัยนั้นสิงคโปร์ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างดียิ่ง จนได้รับสมญาว่าไข่มุกของเอเซีย ฉะนั้นบรรดานักศาสนาหลายลัทธิจึงพากันมุ่งหน้ามายังสิงคโปร์เพื่อใช้เป็นจุดเผยแพร่ศาสนา เนื่องจากสิงคโปร์ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ แม้จะอยู่ในเอเซียแต่วิถีชีวิตของประชาชนเป็นแบบตะวันตก มีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ มีหลายลัทธิศาสนา
รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการให้มีลัทธิขงจื้อเป็นหลัก แต่ได้รับการท้วงติงบ้าง จึงรับพุทธศาสนาเข้าไป พระทิเบตหลายนิกาย นักสอนศาสนาคริสต์และลัทธิต่าง ๆ ได้พยายามเข้ามาเผยแพร่ลัทธิศาสนาในสิงคโปร์ และในกระแสของความสับสนนี้ ผู้ที่เสนอตัวเข้ามาแก้ไขความสับสน หรือผู้ที่อ้างตนว่าเป็นคุรุ หรือผู้ที่จะมาช่วยมนุษยชาติ คือเจ้าลัทธิต่าง ๆ นั้นก็กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสับสนด้วย
ดังนั้นการแสดงธรรมเทศนาของหลวงพ่อจึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวสิงคโปร์ เพราะคำสอนของท่านดูไปแล้วไม่มีลัทธินิกายอะไร ไม่มีกลิ่นอายของสิ่งซึ่งเจ้าลัทธิอื่น ๆ หรือนักศาสนาอื่น ๆ กระทำ ไม่มีการบอกให้เจอพระพุทธเจ้า ไม่มีการบอกให้เชื่อพระเยซู ผู้ฟังจึงเกิดความตื่นเต้นและทึ่งในคำพูดของท่าน แม้หลวงพ่อจะสวมเครื่องแบบเป็นพระ แต่สิ่งที่ท่านสอนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
ในระหว่างที่หลวงพ่อพักอยู่ในสิงคโปร์เพื่อแสดงธรรมและให้การอบรมแก่ผู้ที่มาปฏิบัตินั้น ท่านมีอาพาธมิใช่น้อย หลวงพ่อฉันอาหารไม่ได้และอาเจียน ท่านมีอาการอ่อนเพลียและปวดท้องมาก ในระหว่างการแสดงธรรม ท่านจำเป็นต้องถ่มน้ำลายอยู่เกือบตลอดเวลา
นายแพทย์ตัน ผู้นำทางด้านศาสนาคนหนึ่งของสิงคโปร์ ซึ่งแม้ในขณะนี้ก็ยังทำหน้าที่ผู้สอนศาสนาอยู่ ได้ปรารภว่า หลวงพ่ออาพาธมากขนาดนี้ แต่ยังสามารถแสดงธรรมได้ครั้งละนาน ๆ แสดงว่าหลวงพ่อจะต้องมีเมตตามาก แต่หลวงพ่อตอบว่าท่านไม่ได้มีเมตตาอะไร เพียงรู้สึกว่าชีวิตมันเป็นอันเดียวกันทุกชาติทุกภาษาเท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่ควรแก่การเล่าสู่กันฟังคือ วิธีการสอนของหลวงพ่อที่ได้กระทำต่อผู้ปฏิบัติ ในขณะที่จิตกำลังจะเข้าสู่สภาวะใหม่ อันนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิบัติ การกระทำของหลวงพ่อนั้นจึงเปรียบดุจพี่เลี้ยงนางนม หรืออาจพูดได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดก็มิได้ผิดเพี้ยน เพราะเท่ากับท่านได้เปลี่ยนชีวิตใหม่ให้แก่ผู้ปฏิบัติ
คุณรอนนี่หรือ Hsu chien Teh เป็นชาวสิงคโปร์ผู้หนึ่งที่มาค้างปฏิบัติอยู่ด้วย เมื่อหลวงพ่อได้ทราบจากอาจารย์โกวิทว่า คุณรอนนี่ซึ่งปกติเป็นคนร่าเริง ช่างพูดช่างคุย มีอาการตาลอยผิดไปจากทุกวัน หลวงพ่อท่านรีบลุกขึ้นนั่งทันที ทั้ง ๆ ที่ท่านยังนอนซมอยู่ เนื่องจากในคืนที่ผ่านมาท่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ซึ่งได้ทราบในภายหลังว่าท่านเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร หลวงพ่อห่มจีวรยังไม่ทันเรียบร้อย ท่านก็ออกมาทันที ท่านตรงเข้าจับมือคุณรอนนี่ ถามคำถามช้า ๆ ซ้ำ  อยู่หลายครั้งโดยมีอาจารย์ชูศรีเป็นผู้แปล
การที่หลวงพ่อถือเป็นความรับผิดชอบของท่านที่ต้องมาดูแลคุณรอนนี่ ก็เนื่องจากคุณรอนนี่ได้ปฏิบัติมาจนจิตได้ที่ เปรียบเหมือนผ้าที่ต้มฟอกจนขาวสะอาด เตรียมพร้อมที่จะย้อมสีใหม่ เมื่อย้อมสีไหนก็จะติดสีนั้นทันที หรืออาจเปรียบได้กับทารกที่กำลังจะคลอด ผู้เป็นครูก็อาจจะเปรียบเหมือนผู้ที่มาช่วยฉีกรกนั้นออก ทำให้ทารกนั้นออกมาได้ง่ายขึ้น ทำให้การปฏิบัตินั้นได้ผลสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นทางช่วยไม่ให้ผู้ปฏิบัติติดอยู่กับปีติสุขต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า
คุณหยกเหลียน อดีตประธานชมรมพุทธของวิทยาลัยโปลิเทคนิคก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่งในการปฏิบัติ เธอได้เดินจงกรมติดต่อทันทั้งวันทั้งคืน จนในวันที่ 3 ของการเก็บอารมณ์ ก็ได้อารมณ์กรรมฐานเบื้องต้น เกิดปีติตื้นตันร้องไห้สะอึกสะอื้น แม้ว่าหลวงพ่อยังอาพาธอยู่ แต่ท่านก็ได้ช่วยแก้อารมณ์โดยพาเธอออกไปที่สนามหญ้า ชี้ให้ดูต้นไม้ต่าง ๆ แล้วถามว่าต้นอะไร จนอารมณ์ปีติตื้นตันนั้นคลายไปในที่สุด
แรกทีเดียวหลวงพ่อตั้งใจจะพำนักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 1 เดือน แต่แล้วอาการของโรคมะเร็งในกระเพาะได้บังเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หลวงพ่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เมื่อแพทย์ทำการตรวจเอกซเรย์แล้ว ได้แนะนำว่าควรจะทำการผ่าตัดทันที เพราะเกรงว่าจะเป็นเนื้อร้าย แต่หลวงพ่อต้องการจะเดินทางกลับมาทำการผ่าตัดที่เมืองไทย
ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้เดินทางกลับในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2525 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
แพทย์ได้ตรวจพบเนื้อร้ายในกะเพาะ และได้ทำการผ่าตัดในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525
การไปสิงคโปร์ครั้งที่ 2 ของหลวงพ่อ แม้จะเป็นเวลาเพียง 2 สัปดาห์ และแม้ว่าท่านจะไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้เปลี่ยนวิถีชีวิตหรือความเชื่อในลัทธิศาสนาของคนสิงคโปร์เป็นส่วนรวม แต่ท่านก็ได้เปลี่ยนชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นคนเพียงไม่กี่คน แต่ก็นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าการเปลี่ยนแนวความคิด (concept) ในคนจำนวนมาก ตราบจนทุกวันนี้ แม้เมื่อหลวงพ่อมรณภาพแล้ว ศิษย์ชาวสิงคโปร์กลุ่มหนึ่งของหลวงพ่อที่ได้เคยติดตามมาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อก็ยังคงเดินทางมาปฏิบัติธรรมในเมืองไทยอยู่เหมือนเช่นเคย บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ คุณกี คุณวอง ชุงเหล็ง และคุณเจมส์ ชัน เป็นต้น