หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ

หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ
วัดป่าสันติสุขวนาราม จังหวัดเลย
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์
หลวงพ่อกับ พระอาจารย์ทอง อาภากโร, หลวงพ่อเพียร อตฺตปุญฺโญ, พระอาจารย์คำเขียน สุวณฺโณ และพระอาจารย์บุญธรรม อุตฺตมธมฺโม
อาตมาเกิดประมาณ พ.ศ. 2448 ที่ป้านปากชม จังหวัดเลย บิดาชื่อจันทร์อ้วน พุทธทองศรี มารดาชื่อกี มีพี่น้อง 5 คน อาตมาเป็นคนโต ได้บวชเมื่ออายุ 20 กว่าปี ในขณะนั้นหลวงพ่อเทียนยังเป็นเณร และมาเรียนปริยัติกับอาตมา อาตมาบวชได้ 2 พรรษา แล้วก็สึกออกมา หลังจากนั้นมีครอบครัว มีภรรยาชื่อคัมภีร์ และมีบุตรชาย 4 คน บุตรสาว 1 คน จนอายุได้ 50 กว่าปี จึงได้ข่าวว่าอุบาสกพันธ์ อินทผิว มาเปิดสอนธรรมะที่บ้านบุฮม
อาตมาในขณะนั้นเป็นฆราวาสอยู่ สนใจ จึงมาปฏิบัติธรรมกับท่าน ตอนนั้นใช้เวลาประมาณ 8 วัน จึงเข้าใจรูปนาม เห็นรูป เห็นนาม ก็เห็นทุกข์ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อันนี้เห็นมันเกิด มันดับ นี่แหละอันนี้ก็มาเห็นความคิด ก็เห็นสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
หลังจากนั้นได้บวชเมื่อปี พ.ศ. 2504 และปฏิบัติต่อไป ท่านก็แนะแนวทางให้ ก็เห็นปรมัตถ์ เมื่อหมดอารมณ์ปรมัตถ์ ให้ดูศีล ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ก็ดำเนินไปจนเห็นศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ อันนี้
ศีลอันนี้มันเป็นศีลของมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่ศีลสมมตินี้ อันศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 อันนี้ เป็นศีลสมมุติอยู่ในโลก เมื่อเห็นศีล เห็นสมาธิ เห็นปัญญา แล้วก็เห็นอาสวะกิเลส มันตัดเลย ทิ้ง กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ มันพ้นหมด พ้นจากอวิชชา ถึงที่สุดของทุกข์ หลังจากที่ปฏิบัติมาราว 10 ปี ตอนนั้นอาตมามีความรู้สึกต่อหลวงพ่อว่าเป็นครู เป็นพ่อ เป็นผู้ให้กำเนิดอาตมาในทางธรรม และอาตมามีความมั่นใจว่า สิ่งที่ได้พบนี้คือพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แน่นอนเป็นอย่างนั้นนะ ครบหลักสูตร มันเห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความดับทุกข์ เห็นทางไปสู่ความดับทุกข์ เป็นแบบนั้น อันนี้แนวทางมัชฌิมาปฏิปทา อันนี้ท่านพูดเป็นหลักสูตร เราต้องทำไปอย่างนั้น การปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก มีการสร้างจังหวะ แล้วก็มีสติปัฎฐานสี่ ดูกาย เวทนา จิต ธรรม ดูกายเคลื่อนไหว ให้เห็นภายในกาย ดูเวทนา ให้เห็นเวทนาในเวทนา ดูจิตให้เห็นจิตในจิต ดูธรรม ให้เห็นธรรมในธรรม สี่อย่างนี้เอาให้ได้ ได้หลักสี่นี้แล้ว ครั้นตั้งใจจริง ๆ เป็นได้ เข้าถึงได้
การทำต่อเนื่องตลอด มันพอเวลาใด มันเกิดเวลานั้น นั่นคือเป็นสันทิฏฐิโก ผู้ศึกษาและผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ใช่คิด ไม่ใช่เดาไม่ใช่คาดคะเน มันรู้เองนะ รู้เองจากความรู้อันนี้เท่านั้น มันมีอยู่แล้ว รู้อย่างพุทธะผู้รู้ รู้อย่างนี่ เห็นอันนี้ เข้าใจอันนี้
การปฏิบัตินี้ ต้องมีศรัทธาเป็นพืช มีความเพียรเป็นน้ำฝน มีหิริเป็นแอกและคันไถ มีใจเป็นเชือก มีสติเป็นผาลและปฏัก และมีนาคือบุคคลไถแล้ว ผาลคือทาง คือความเชื่อ ศรัทธาคือความเชื่อ วิริยะคือความเพียร สันติคืออดกลั้น แต่คนเรามันไม่อด มันมีเหตุขึ้นมาแล้ว มันโกรธขึ้นมา มันถอนไม่ออก การปฏิบัติต้องทำจริง มันถึงจะรู้ของจริง ไม่ใช่ของเล่น เป็นของจริง เอหิปสฺสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวให้ผู้อื่นทำตามได้ ถ่ายทอดให้ผู้อื่นฟังได้ มันเป็นอย่างนี้แหละของจริง หากผู้ใดมีศรัทธา เขาจะมาเห็นอันนี้ หากไม่มีศรัทธา มันก็ไม่เห็นนะ ผู้ใดก็ทำได้ ผู้ชายก็ทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้ ท่านจึงว่าพี่น้องกันเกิดร่วมท้องเดียวกัน ก็ทำได้เหมือนกัน ถ้าฝึกทุก ๆ วัน เหมือนเสืออยู่ในป่า
ธรรมของจริงก็มีอยู่ในตัวเรานี้แหละ จะไปหานอกตัวไม่ได้ ไม่มีจริง ๆ ครั้นหาในตัว ในตัวรู้นี้ มันมีจริง ๆ อย่าขี้เกียจทำ เอาขี้เกียจทิ้งซะ เอาทิ้ง มันก็ทิ้งได้ พวกเราอย่างประมาท ความประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งความตาย ต้องเอาขันติ อดเอา พยายามเพียร เพียรปฏิบัติ ต้องทำเรื่อย ๆ นั่งก็ไม่หยด ดูมันนะ นอนก็ดูมันนะ ยืนก็ดูมันนะ เดินก็ดูมันนะ ดูเรื่อย ๆ หากเราเห็น เราก็ทันมัน หากไม่เห็น มันก็ไม่ทัน ให้มันทัน มันก็ทันความคิดนะ ความคิดพาให้เป็นทุกข์ พาให้ขี้เกียจ ทุกคนทุกข์เพราะความคิดทั้งนั้น เอาความรู้อันนี้แก้มัน มันคิดออกไปก็ไม่ไปกับมัน ให้มันไป แต่เราอย่าไปนะ ดูความรู้ให้มันกลับมา ตั้งสติให้มันรู้ อย่าไปหลงกับมัน ครั้นหลงไปแล้ว มันจะต่อเนื่องกันไปเลย คิดแล้วก็คิดอีก เป็นเรื่องเป็นราว อันนั้นเป็นทุกข์ ทุกข์แล้วนะ ครั้นคิดก็ทุกข์ ครั้นดับได้เป็นสุข เป็นอย่างนั้น นี่แหละหลักปฏิบัติ