"ทางที่มิใช่ทาง" หน้า 100-104

ทางที่มิใช่ทาง
ความสงบที่ไปทำกันนั้น ผลมันเกิดขึ้นเพราะเหตุคือเราไปทำไปสร้างความสงบมา, เช่นเราไปภาวนาพุทโธ, ซึ่งผมเองเคยทำมาก่อนแล้ว. หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ, เวลาเดินจงกรมก็ว่า พุทโธ ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามา แล้วให้จังหวะถูกต้องกับลมหายใจ ; สิ่งเหล่านี้เป็นความสงบเพราะมันทำช้าๆ.


ต่อมา มีอาจารย์ท่านหนึ่งชื่ออาจารย์เสาร์, มาจากภาคเหนือ, พูดให้ผมฟังว่า การขึ้นต้นไม้นั้นจะขึ้นปลายทีเดียวไม่ได้ มันต้องขึ้นไปจากโคนต้น. ท่านก็มาสอนให้นับหนึ่ง-สอง-สามไปจนถึงสิบแล้วย้อนจากสิบ-เก้า-แปดลงมาถึงหนึ่ง, อันนี้ท่านว่าเป็นการขึ้นต้นของมัน. ซึ่งก็เป็นวิธีตามลมหายใจเหมือนกัน คือหายใจเข้าก็ว่าหนึ่งหายใจออกก็ว่าสอง ฯลฯ ผิดกันแต่คำพูดคำภาวนาเท่านั้นส่วนหลักการอันเดียวกันคือให้ถูกต้องตามลมหายใจเข้าออก. นอกจากนี้ยังสอนอีกว่าวิธีนับหนึ่ง-สอง-สามนี้ขลังอีกด้วย หากมีมีพร้าฟันเราเป็นแผล แกสอนว่าให้กลั้นใจนับหนึ่ง-สอง-สามไปจนถึงสิบนี่แหละกลับไปกลับมา มันจะไปเป่าเส้นเลือดขัดเส้นเลือดให้หายได้, และเวลาเดินทางไปไหนมาไหนผีก็ขยาดผีก็กลัว. ท่านสอนอีกหลายอย่าง.
จากนั้นมาผมก็ทำสัมมาอรหัง, ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์เสาร์แกสอนไว้เหมือนกัน. สิ่งเหล่านี้ผมทำมาได้ความสงบ นั่งแล้วก็สงบ ภาวนาไปก็หลับเพราะว่ามันหลับตาทำช้าๆ เดินจงกรมก็ทำไปอย่างนั้น.
หลังจากนั้นผมไปที่จังหวัดอุดรฯ ผมเลยไปได้วิธีพอง-ยุบจากอุดรฯ. วิธีพอง-ยุบนี้ เวลาหายใจเข้าก็ว่า พองหนอ หายใจออกก็ว่ายุบหนอ. ซึ่งก็คือให้ตามลมหายใจเช่นเดียวกัน. วิธีเหล่านี้เป็นอันเดียวกัน มันเกี่ยวข้องกับลมหายใจเหมือนกันหมด. เวลาเดินจงกรมก็ว่ายกส้นหนอ-ยกหนอ-ไปหนอ-ลงหนอ-ถูกหนอ-กดหนอ ฯลฯ. ทำไปแล้วก็พูดว่าได้ญาน, แล้วแต่จะพูดไป, ได้เท่านั้นได้เท่านี้. ผมทำมาแล้ว, ขอพูดตรงๆนี้แหละ - มันเป็นการเดาคาดคิดคาดคะเนเอาเอง, แต่ก็ดีเหมือนกัน
สิ่งที่กล่าวมานี้ รวมความแล้วก็คือการดูลมหายใจทั้งนั้น, แต่ก็ได้ความสงบ, แม้วิธีอานาปานสติก็ดูลมหายใจเหมือนกัน. นั่งดูลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก สั้น-ยาว ให้รู้จัก ดูลมหยาบ-ลมละเอียดให้รู้จัก. ดูไปๆมันละเอียดเข้าๆก็เลยหลงต้นลม-ปลายลมหายใจ. คำว่า "หลง" นี้เป็นภาษาบ้านเราเทียบได้กับภาษาในทางธรรมะว่า "โมหะ". สิ่งเหล่านี้ผมทำมาแล้วและมีความสามารถที่จะสอนผู้อื่นได้วิธีทำสมาธิตัวแข็งนี้ผมสอนได้จริงๆ ถ้าหากญาติโยมคนใดต้องการ ; แต่หากว่ามันเป็น "ความสงบใต้โมหะ", สงบใต้ความหลง ไม่ใช่ความสงบแบบปัญญา" ตามความเข้าใจของผม การกระทำวิธีนี้ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า.
ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไปศึกษาอยู่กับอาฬรดาบสและอุทกกดาบส 2 อาจารย์นี้จนได้สมาบัติเจ็ดสมาบัติแปด เข้าฌานได้คล่องแคล่วว่องไวเหมือนกับอาจารย์ แต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่ เพราะยังคิดถึงคนนั้นคนนี้ ชอบคนนั้นเกลียดคนนี้, ตาเห็นรูปหูได้ยินเสียงบางครั้งก็พอใจบางครั้งก็ไม่พอใจ, ถึงแม้ตาไม่เห็นหูไม่ได้ยิน ก็ยังคิดถึงราหุลพระนางพิมพาผู้เป็นโอรสและมเหสี คิดถึงพระราชวัง คิดถึงสมบัติ คิดถึงนางสนมกำนัลผู้ให้ความบำรุงบำเรอ ; อันนี้แสดงว่าความทุกข์ยังมีอยู่, อันนี้เรียกว่า รู้จำ-รู้จัก แต่ยังไม่ใช่การรู้แจ้ง-รู้จริง; ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์. เมื่อไปถามอาจารย์ อาจารยก็บอกว่าหมดความรู้ที่จะสอนแล้ว พระองค์ก็เลยลาอาจารย์ แต่อาจารย์ไม่อยากให้ไปอยากให้อยู่ประกาศธรรมที่เรียนมานั้น, พระองค์มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะดับทุกข์ ก็เลยหนีอาจารย์. พระองค์มาปฎิบัติอีกหลายวิธี ; มากลั้นลมหายใจ, ไม่กินข้าวไม่กินน้ำ, ไม่พูดกับใคร, ฯลฯ, บางสมัยกินเท่าเมล็ดงา เมื่อเป็นดังนี้ร่างกายก็เริ่มซูบผอม มีแต่หนังหุ้มกระดูกเอ็นรัดรึงกันอยู่เท่านั้นไปไหนมาไหนก็ลำบาก. อันนี้แสดงว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่ก่อนพุทธกาลไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, เป็นแต่เพียงคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์โดยทั่วไป.
ในบางประเทศอินเดียมีหลายลัทธิ. พวกเราก็คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมา, บางลัทธิ เปลือกกายไม่นุ่งผ้า บางลัทธิฝึกสอนให้ทรมานกายโดย นอนบนเสี้่ยนบนหนาม ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าหนามตำก็เจ็บ บางลัทธิก็นอนย่างไฟ, ฯลฯ. ถ้าหากเราเข้าใจเรื่องตำรับตำรารู้จำมาดีแล้ววเราก็จะเข้าใจได้ง่าย, อย่างลัทธิไม่นุ่งผ้า เมื่อมาคิดถึงเด็กๆ ที่เกิดมาใหม่ๆ ก็ไม่นุ่งผ้าเช่นกัน พอโตขึ้นก็หาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ไม่, หรืออย่างนอนย่างไฟ ก็ลองคิดเทียบกับหญิงคลอดลูกใหม่ๆ อยู่ไฟผมเห็นแม่ลูกอ่อนบ้านผมนอนย่างไฟกินน้ำร้อน กิเลสก็หาได้หมดไปไม่ และไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลด้วย, เราก็เห็นกันอยู่ด้วยตา แล้วก็ยังพิจารณาได้หากมีปัญญา. สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแต่เป็นทิฏฐิความเห็น และทำไปเพราะความไม่รู้, เมื่อไม่รู้ก็ทำไปแบบงมงายอย่างนั้น ต่างคนต่างทำคล้ายกับคนตาบอดหลงทาง รอโอกาสอยู่แต่ว่ามันจะถูกทางเมื่อใด-เป็นอย่างนั้น.
ต่อมาพระองค์ก็เห็นว่าการทำอย่างนั้นมันเป็นทางที่มิใช่ทางพ้นทุกข์ จึงเลิกละจากสิ่งเหล่านั้น มากินมะขามป้อมและสมอนี่แหละ, ปัญจวัคคีย์เห็นดังนั้นก็เข้าใจว่าพระองค์งจะไม่ได้ตรัสรู้แล้ว เพราะเลิกละความเพียรเวียนมามักมากแล้วจึงหนีจากพระองค์ไป, นี่แหละเรื่องของความไม่เข้าใจ. พวกเราที่ได้เรียนนักธรรมตรีนักธรรมโทนักธรรมเอกหรือเรียนบาลีมารู้จักดี, อันนี้ชื่อว่ารู้จำ, ที่ผมพูดมานี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังก็รู้จำมา.
เมื่อพระองค์ทรงดำเนินมาตามลำพังพระองค์เดียว ก็รู้สึกสงัดกายสงัดวาจา แต่ใจยังไม่สงัด, แล้วมาพบนางสุชาดา ซึ่งกำลังจะเอาข้าวไปบวงสรวงเทวดา ; นี้ก็แสดงว่า การอ้อนวอนบวงสรวงก็มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว. ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้มีปัญญาก็พอจะเข้าใจได้ว่า การทำบุญให้ทานรักษาศีลหรือทำสมถกรรมฐานนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า, แต่ก็พอสงเคราะห์ได้ว่าเป็นการกระทำดีซึ่งก็ดีกว่าทำชั่ว หรือว่าเอาบุญดีกว่าเอาบาป, แต่ก็เรียกได้แต่เพียงว่า “ทำดี” เฉยๆเท่านั้นเอง เพราะมันยังดับทุกข์ไม่ได้
ที่เล่าให้ฟังนี้เพื่อให้ทำความเข้าใจว่าอะไรควรอะไรไม่ควร บางท่านอาจไม่เชื่อ, บางท่านอาจบอกว่า มันต้องทำไปตามขั้นตอน ต้องสร้างสมอบรมบารมี ; จะคิดเอาอย่างนี้ก็ได้. แต่ถ้าหากเป็นคนมีปัญญาแล้ว จะฟังเข้าใจ. ที่พวกเรามาอยู่ที่นี้ก็เพื่อมาปฎิบัติธรรม จึงขอให้ทุกคนทำตัวเป็นข้าวชนิดที่หนึ่ง เป็นเมล็ดที่สมบูรณ์แก่ดีเต็มดีเอาไปเพาะปลูก มันออกหน่อง่าย, ถ้าเป็นข้าวเมล็ดผอมเมล็ดเล็กมันอาจออกหน่อได้ช้า, ถ้าเป็นข้าวลีบ ก็ไม่ออกเลย เป็นอย่างนั้น.

ฉะนั้น จงตั้งใจฟัง เพื่อความเข้าใจ, ให้รู้จำ-รู้จัก-รู้แจ้ง-รู้จริง.






พิมพ์โดย  คุณ สันทัด เจิดจรรยาพงศ์